เผยแพร่เมื่อ : จันทร์ 2 มีนาคม 2563 โดย วิทยา กวีวิทยาภรณ์ จำนวนผู้เข้าชม 5,290 คน
วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2563 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พินิจ เนื่องภิรมย์ รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมด้วยผู้บริหารและคณาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ล้านนา ร่วมพิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย” เนื่องในวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2563 ณ อาคารอเนกประสงค์ โรงเรียนบ้านศาลา ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติแด่พระองค์ท่าน ในฐานะที่ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านงานช่าง ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และทรงใช้ทักษะและความถนัด ในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ด้วยพระองค์เอง เป็นจำนวนมากซึ่งล้วนแต่สร้างชื่อเสียง และคุณประโยชน์ แก่ประเทศชาติและปวงชนชาวไทยอย่างอเนกอนันต์ อีกทั้ง มทร.ล้านนา ได้ยึดถือแนวทางการปฏิบัติงานและทักษะฝีมีทางด้านการช่างของพระองค์ เป็นแบบอย่างในกระบวนการจัดเรียนการสอน อันเป็นรากฐานของการสร้างบัณฑิตนักปฏิบัติของมหาวิทยาลัยฯ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
สำหรับงาน"วันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2563 ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับเกียรติจากนายเจริญฤทธิ์ สวงนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธานการวางพานพุ่มและกล่าวถวายราชสดุดี พร้อมมอบเงินสนับสนุนหน่วยงานที่สนับสนุนการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน และมอบเกียรติบัตรแก่หน่วยงานภาคเอกชนที่ผ่านการรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงาน โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ สถาบันการศึกษา เข้าร่วมในพิธีดังกล่าว
“วันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ” ถือเป็นอีกหนึ่งวันที่มีความพิเศษต่อช่างฝีมือแรงงานไทยทั่วประเทศนับต่อแต่นี้ไป เนื่องจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ให้วันที่ 2 มีนาคม ของทุกปี ถือเป็นวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ รวมถึงมีการถวายพระราชสมัญญาแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ว่า “พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย” เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถทางการช่างและเป็นแบบอย่างและแรงใจต่อแรงงานไทยทุกคน การถวายพระราชสมัญญาและกำหนดให้วันที่ 2 มีนาคม ของทุกปีนับแต่นี้ไป เป็นวันมาตรฐานฝีมือแรงงานนี้ สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2513 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขันฝีมือช่างแห่งชาติ ครั้งที่ 1 โดยกรมแรงงานสังกัดกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นเป็นเจ้าภาพ การเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนั้นแสดงให้เห็นถึงพระราชหฤทัยในการเล็งเห็นถึงความสำคัญของการช่างไทย โดยในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้มีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า
" ช่างทุกประเภท เป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของบ้านเมืองและของคนทุกคนเพราะตลอดชีวิตของคนเรา เราต้องอาศัยและใช้บริการสิ่งต่างๆ ที่ได้มาจากฝีมือของช่างอยู่ทุกวี่ทุกวัน ผู้เป็นช่างจึงสมควรได้รับความเอาใจใส่สนับสนุนจากทุกๆ ฝ่ายยิ่งในสมัยปัจจุบัน วิทยาการทุกอย่างเจริญก้าวหน้ายิ่งจำเป็นต้องส่งเสริมมากเป็นพิเศษเพื่อให้ได้ช่างที่มีความสามารถสูง ให้มีสิ่งใช้สอยที่มีคุณคุณภาพดีและเพียงพอกับความต้องการ"(พระราชดำรัสในพิธีเปิดงานแนะแนวอาชีพและแข่งขันฝีมือช่างของสโมสรโรตารี กรุงเทพฯใต้ ณ ลุมพินีสถาน วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม 2513)
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ยังทรงสนพระราชหฤทัยในงานช่างตั้งแต่ยังทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เนื่องจากมีบันทึกว่าหากพระองค์ทรงอยากได้ของเล่นชิ้นใด ต้องทรงเก็บสตางค์ซื้อเองหรือทรงประดิษฐ์ขึ้นมาเอง โดยในครั้งทรงพระเยาว์นั้น พระองค์ได้ทรงประดิษฐ์ของเล่นด้วยพระองค์เอง อาทิ เครื่องร่อน เรือรบจำลอง และรถลากไม้ พระอัจฉริยภาพในการเป็น "นักประดิษฐ์" และ “นักการช่าง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพื้นฐานมาจาก "การประดิษฐ์ของเล่นสมัยทรงพระเยาว์" นั่นเอง
แม้ภายหลังจากที่ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ยังคงสนพระราชหฤทัยในงานช่างอยู่เสมอ ดังงานช่างชิ้นหนึ่งที่แสดงถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ อย่างเป็นที่ประจักษ์ชัด คือ “ผลงานการออกแบบและต่อเรือ” เนื่องจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงสนพระราชหฤทัยในกีฬาเรือใบเป็นอย่างยิ่ง ประกอบกับทรงพระปรีชาสามารถทางการช่าง ทำให้ทรงมีผลงานการออกแบบและต่อเรือใบที่ดีเลิศ โดยทรงชนะเลิศการแข่งขันกีฬาเรือใบในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 พุทธศักราช 2510 ณ ประเทศไทย ด้วยเรือที่ทรงต่อขึ้นด้วยพระองค์เอง จึงเป็นที่ประจักษ์ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระอัจฉริยภาพทางการช่างอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ ยังได้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจต่างๆ มากมาย จนมีผลงานฝีมือและงานประดิษฐ์เป็นที่รู้จักหลายชิ้น รวมถึงได้รับการยอมรับและขนานนามไปทั่วโลก อย่างกังหันน้ำชัยพัฒนา และฝนหลวง เหล่านี้ถือเป็นผลงานที่ทำขึ้นเพื่อพสกนิกรของพระองค์อย่างแท้จริง โดยมิได้ทรงคำนึงถึงความเหน็ดเหนื่อยพระวรกาย เพราะทรงตระหนักว่าประโยชน์สุขของประชาชนต้องมีความสำคัญก่อนเสมอ พระองค์จึงทรงเป็นแบบอย่างต่อช่างฝีมือแรงงานไทย ที่มุ่งพัฒนางานของตนเพื่อยังประโยชน์แก่ส่วนรวม
หากพิจารณาถึงแรงงานไทย ถือเป็นวิชาชีพที่มีคนไทยกลุ่มใหญ่ประกอบอาชีพนี้ และถือได้ว่าประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตแรงงานที่ดีและได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก เนื่องจากความละเอียดอ่อนและฝีมือการช่างที่ได้มาตรฐาน การกำหนดวันดังกล่าวให้เป็นวันสำคัญสำหรับแรงงานไทยทุกคน จึงถือเป็นการปลุกเร้าให้ช่างฝีมือแรงงานไทยพยายามพัฒนาฝีมือให้ดีขึ้น ดังพระประสงค์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชดำริไว้
นับแต่นี้ไปในวันที่ 2 มีนาคม ของทุกปี จึงถือเป็นวันที่แรงงานและช่างฝีมือไทยทุกคน ต่างได้รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น ในการพัฒนาฝีมือการช่างเพื่อประโยชน์แด่ส่วนรวม ดังพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติเป็นแบบอย่างเสมอมา สมดังพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย” และเพื่อให้แรงงานและช่างฝืมือไทยต่างได้ย้อนเห็นถึงคุณค่าของแรงงานและช่างฝีมือ ในการเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยให้พัฒนาอย่างทัดเทียมกับชาติอื่นๆ และร่วมกันพัฒนาฝีมือช่างของตนเพื่อให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลกสืบไป ดังที่คนไทยภาคภูมิใจในวัฒนธรรมฝีมือการช่างและพระอัจฉริยภาพของในหลวงของเรา
(ข้อมูลเพิ่มเติมจาก : สำนักพัฒนามาตรฐานและทดสอบฝีมือแรงงาน www.dsd.go.th)
คลังรูปภาพ : วันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2563
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา