เผยแพร่เมื่อ : พฤหัสบดี 30 เมษายน 2563 โดย ธนพล มูลประการ จำนวนผู้เข้าชม 4,976 คน
ความเป็นมาของวันฉัตรมงคล
“ความเป็นมาของพระราชพิธีฉัตรมงคลนั้น มีพระบรมราชาธิบายไว้ในพระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงมีพระราชดำริว่า วันที่พระองค์ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกนั้น เป็นมหามงคลสมัยซึ่งประเทศทั้งปวงที่มีพระเจ้าแผ่นดินย่อมนับถือวันนั้นเป็นวันนักขัตฤกษ์มงคลกาล แต่ในกรุงสยามมิได้มีการนักขัตฤกษ์อันใด ครั้งนี้วันบรมราชาภิเษกของพระองค์ ตรงกับสมัยที่เจ้าพนักงานได้สมโภชเครื่องราชูโภคแต่เดิมมา ควรที่จะมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตรให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติ จึงได้ทรงพระราชดำริจัดการพระราชกุศล พระราชทานชื่อว่า ฉัตรมงคล นี้ขึ้น การพระราชพิธีฉัตรมงคลเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มนั้น มีสวดมนต์เลี้ยงพระ เวียนเทียนสมโภชพระมหาเศวตฉัตรที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทและพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ มีเพิ่มการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า อาลักษณ์อ่านคำประกาศ ยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติ ชุมนุมถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช เวียนเทียนสมโภชเครื่องราชกกุธภัณฑ์ครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ การพระราชพิธีฉัตรมงคลได้เพิ่มการพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ซึ่งเป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลสนองพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช”
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการในคณะกรรมการฝ่ายจัดพิธีการงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ ๑๐ กล่าวไว้ว่า หลังพระราชพิธีบรมราชภิเษก ๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒ ในปีถัดไปจะเป็นวันระลึกวันบรมราชาภิเษก และจะเรียกว่าวันฉัตรมงคลตลอดไปในรัชกาลนี้ และด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป วันฉัตรมงคลจะกลายเป็นวันที่ ๔ พฤษภาคมนั่นเอง
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา