โลโก้เว็บไซต์ ราชมงคลล้านนาเปิดตัวโครงการ Start Up ยกระดับผู้ประกอบการกลุ่ม SME คาดเกิดธุรกิจใหม่ หนุนเศรษฐกิจประเทศ | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

ราชมงคลล้านนาเปิดตัวโครงการ Start Up ยกระดับผู้ประกอบการกลุ่ม SME คาดเกิดธุรกิจใหม่ หนุนเศรษฐกิจประเทศ

เผยแพร่เมื่อ : พุธ 8 มิถุนายน 2559 โดย นริศรา สกุลสอน จำนวนผู้เข้าชม 1,358 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา  ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ร่วมเปิดตัวโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ Start up ปี 2559 (ภาคเหนือตอนบน) โดยได้รับเกียรติจาก นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดงานสัมมนา พร้อมกันนี้ มีการแนะนำโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (Start Up) ปี 2559 โดย นายวชิระ แก้วกอ ผู้อำนวยการฝ่ายประสานเครือข่ายผู้ให้บริการ SMEs (สสว.) รวมทั้งการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “บทบาทของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนากับการส่งเสริม SMEs ในภาคเหนือ โดยรศ.ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดี มทร.ล้านนา และการเสวนา เรื่อง แนวทางการส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ (Start Up) ปี 2559  โดยตัวแทนจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มไทยภาคเหนือ และตัวแทนจากผู้ประกอบการ ที่ประสบความสำเร็จในจังหวัดเชียงใหม่  จัดขึ้นในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2559 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่ โครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (Start Up) ปี 2559 เกิดขึ้นจากแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเพื่อก้าวเข้าสู่โมเดลประเทศไทย 4.0* โดยการขับเคลื่อน SMEs ให้เติบโตอย่างยั่งยืนเพื่อเป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจให้เกิดความเข้มแข็งนั้น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง โดย มทร.ล้านนา เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานของ 17 จังหวัด ภาคเหนือเพื่อเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ โดยใช้กระบวนการบ่มเพาะ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติพร้อมรองรับการสนับสนุนทางด้านการเงินแบบครบวงจรไปในคราวเดียวกัน โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มนักศึกษานะดับปริญญาตรีและบัณฑิตที่จบการศึกษา  ผู้ที่สนใจอยากประกอบธุรกิจรวมถึงกลุ่มธุรกิจ โดยมีเป้าหมายมีผู้เข้าร่วมโครงการและได้รับการอบรมความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติพร้อมก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการใหม่จำนวน 10‚000 ราย และมีผู้ที่ผ่านการอบรมทีมีศักยภาพมีแผนธุรกิจพร้อมที่จะนำไปดำเนินธุรกิจจำนวนกว่า 5‚000 ราย สายต่อจนกลายเป็นผู้ประกอบการที่สามารถเริ่มดำเนินธุรกิจได้เป็นรูปธรรม (Start Up) จำนวน 3‚000 ราย ซึ่งจะแบ่งการดำเนินงานโดย เป็นภาคเหนือตอนบน ณ มทร.ล้านนา เชียงใหม่และภาคเหนือตอนล่าง ณ มทร.ล้านนา พิษณุโลก นายปวิณ  ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า “ในปัจจุบันแนวโน้มคนรุ่นใหม่ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาที่เพิ่งเรียนจบหรือวัยทำงาน ต่างใฝ่ฝันที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจหรือเป็นเจ้านายตัวเอง  โดยเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่าการเป็นเจ้าของกิจการจะเป็นช่องทางนำไปสู่ความมั่นคงของตนเอง ทั้งด้านสังคม  เศรษฐกิจและการควบคุมวิถีชีวิต  ช่วงหลายปีที่ผ่านมาเกิดการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคที่มีการแข่งขันแบบก้าวกระโดด  กระแสของธุรกิจ Start UP เป็นคำที่ถูกหยิบยกมาพูดในแวดวงธุรกิจอย่างต่อเนื่อง  จึงเป็นความท้าทายของนักพัฒนาที่ต้องสร้างกลไกหรือเครื่องมือที่จะทำให้ผู้ประกอบการมีความพร้อมทุกๆ ด้าน   ดังนั้นการเชื่อมโยงองค์ความรู้จากสถาบันการศึกษาไปสู่ชุมชน จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมและอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้จริง” รศ.ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดี มทร.ล้านนา กล่าวว่า “โครงการนี้เป็นกิจกรรมที่สืบเนื่องจากเมื่อปลาย ปี 2558 โดยกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง ได้ลงนามความร่วมมือการสร้างผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Start-Up) ระหว่าง(สสว) กับ (ธพว.) และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ดังกล่าว ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่หรือกลุ่มที่เริ่มดำเนินธุรกิจ (Start-Up) จำนวน 10‚000 ราย ทั่วประเทศ ภายในปี พ.ศ.2561 ซึ่ง สสว.บูรณาการความร่วมมือ จากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องให้กับผู้ประกอบการ SMEs ในการพัฒนาให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กสามารถเติบโตเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ได้ในอนาคตก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ในส่วนของมทร.ล้านนานั้นเป็นสถานศึกษาที่มีความพร้อมในการสนับสนุนทั้งด้านวิชาการและบุคลากรที่จะเสมือนเป็นพี่เลี้ยงที่สนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินอย่างประสบความสำเร็จ”           สำหรับเปิดตัวโครงการครั้งนี้ ยังได้เปิดเวทีสัมมนา ในหัวข้อ “แนวทางการส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ ( Start Up) ปี 2559” โดยนายจรินทร์ เฮียงกุล ผอ.ศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการ ภาค 1 ธพว.  นายอาคม ศุภางค์ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ภาคเหนือ และตัวแทนผู้ประกอบการ นายชัดชาญ เอกชัยพัฒนกุล เจ้าของบริษัท เชียงใหม่วนัสนันท์ จำกัด ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.ปาริชาติ บัวเจริญ  เพื่อเป็นแนวทางในการประกอบธุรกิจแก่กลุ่ม Start Up รายใหม่ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนาเป็นจำนวนมาก  (ชมภาพกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/กองประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

Facebook Messenger icon