เผยแพร่เมื่อ : พุธ 28 เมษายน 2564 โดย ชลาลัย กมลคุณาชัย จำนวนผู้เข้าชม 1,582 คน
วันนี้ (28 เม.ย. 64) เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมกองการศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก จัดการประชุมชี้แจงและเสนอความคิดเห็นการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก โดยมีนายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก นายแพทย์ปุริฉัตร ยิ่งรังสรรค์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก (ด้านเวชกรรม) นางสุพัตรา แจ่มตระกูล รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช นายสมชาย ไตรทิพย์ชาติสกุล นายอำเภอเมืองตาก นางสุภาภรณ์ บัญญัติ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาคุณภาพและรูปแบบบริหาร นางกรุณา ศรีปวนใจ พยาบาลควบคุมป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล ได้ร่วมให้ข้อมูลและชี้แจงประเด็นข้อห่วงใยในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามให้แก่บุคลากรมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก
นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวว่าโรงพยาบาลในฝั่งตะวันออกของจังหวัดตาก มีจำนวนเตียงที่พร้อมรองรับผู้ป่วยได้ 56 เตียง ประกอบด้วย โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช 20 เตียง โรงพยาบาลบ้านตาก 20 เตียง โรงพยาบาลสามเงา 10 เตียง และโรงพยาบาลวังเจ้า 6 เตียง รวมทั้งสิ้น 56 เตียง ขั้นตอนต่อไปหากสถานการณ์รุนแรงขึ้น โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสามารถขยายเตียงเพิ่มได้อีก 12 เตียง (จากเดิม 20 เตียง รวมเป็น 32 เตียง) โรงพยาบาลสามเงาจะปิดรับผู้ป่วยทั่วไปชั่วคราว โดยจะขยายเตียงเพิ่ม 40 เตียง (จากเดิม 10 เตียง รวมเป็น 50 เตียง) เพื่อรองรับเฉพาะผู้ป่วยโรคโควิด-19 เต็มรูปแบบ โรงพยาบาลวังเจ้าสามารถขยายเตียงได้เพิ่ม 14 เตียง (จากเดิม 6 เตียง รวมเป็น 20 เตียง) รวมแล้วโรงพยาบาลทั้ง 4 แห่งสามารถรองรับผู้ป่วยได้ทั้งสิ้น 122 ราย และขั้นตอนสุดท้ายจึงจะเข้าสู่การเปิดใช้โรงพยาบาลสนาม โดยได้กำหนดเกณฑ์การเปิดใช้โรงพยาบาลสนามไว้ว่ากรณีมีผู้ป่วยอาการหนักรวม 50 ราย และมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นวันละ 7 รายติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน จึงจะเข้าสู่การประเมินการเปิดใช้โรงพยาบาลสนามต่อไป แต่ขณะนี้ฝั่งตะวันออกไม่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นเวลา 3 วันแล้ว ผู้ป่วยจะอยู่ที่ฝั่งอำเภอแม่สอดเป็นส่วนใหญ่ และผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลฝั่งตะวันออกในขณะนี้ก็ไม่ใช่ผู้ป่วยที่มีอาการหนัก
สำหรับการเตรียมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามกรณีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทวีความรุนแรงขึ้นนั้น จังหวัดตากได้เตรียมโรงพยาบาลสนามไว้ 2 แห่ง ได้แก่อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก คาดว่าสามารถรองรับผู้ป่วยได้จำนวน 120-180 คน และจะเปิดใช้เป็นโรงพยาบาลสนามแห่งที่หนึ่ง สำหรับแห่งที่สองได้แก่ อาคารสราญรมย์ มณฑลทหารบกที่ 310 รองรับผู้ป่วยได้จำนวน 80 คน จึงขอทำความเข้าใจแก่บุคลากรในพื้นที่ถึงความจำเป็นในการเปิดใช้โรงพยาบาลสนาม และขอให้มั่นใจในการจัดการเรื่องความปลอดภัยให้แก่บุคลากรและนักศึกษา พร้อมทั้งให้ความมั่นใจในกระบวนการรักษาพยาบาลของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเข้มแข็งและมีความพร้อม นอกจากนี้ยังมีทีมงาน อ.ส.ม. ทีมงานสาธารณสุขอำเภอเมืองตากที่คอยให้ความช่วยเหลือในเรื่องของการกักตัว ไม่ว่าจะเป็นการกักกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในจังหวัดตาก หรือการกักตัวเองที่บ้าน
นายแพทย์ปุริฉัตร ยิ่งรังสรรค์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก เปิดเผยว่าจำนวนเตียงที่พร้อมรองรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในพื้นที่ทางฝั่งตะวันออกของจังหวัดตาก ได้แก่ อำเภอเมืองตาก อำเภอวังเจ้า อำเภอบ้านตาก และอำเภอสามเงา จำนวนทั้งสิ้น 56 เตียง สามารถขยายเตียงเพิ่มขึ้นได้อีก 100 เตียง แต่ขณะนี้อำเภอฝั่งตะวันออกไม่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นเวลา 3 วันติดต่อกันแล้ว (ข้อมูลวันที่ 28 เม.ย. 64) ซึ่งกำลังเป็นไปในทางที่ดีขึ้น หากหลังจากวันนี้ยังไม่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นก็จะค่อยๆ ลดลงจนไม่จำเป็นต้องใช้เตียงเสริมหรือโรงพยาบาลสนาม เพราะฉะนั้นการหารือในวันนี้เป็นการเตรียมการณ์ไว้ก่อนเพื่อรับมือกรณีสถานการณ์ของโรคทวีความรุนแรงขึ้น หากมีความจำเป็นต้องเปิดโรงพยาบาลสนามจะมีหน่วยงานดำเนินการหลักในการควบคุม ดูแล และรักษา คือ โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และใช้ระบบการรักษาเช่นเดียวกับโรงพยาบาล ดังนั้น ขอให้บุคลากรมหาวิทยาลัยและประชาชนมีความมั่นใจได้ว่าจังหวัดตากจะดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อควบคุมไม่ให้มีการแพร่กระจายไปยังพื้นที่โดยรอบ
นางสุพัตรา แจ่มตระกูล รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กล่าวว่าสถานการณ์โรคโควิด-19 ฝั่งตะวันออกมีผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลในขณะนี้จำนวน 13 ราย และกลับบ้านได้ในวันนี้จำนวน 2 ราย เหลือผู้ป่วยที่ยังคงรักษาตัวอยู่ 11 ราย (ข้อมูลวันที่ 28 เม.ย. 64) กรณีเปิดใช้โรงพยาบาลสนามขึ้น ทางโรงพยาบาลมีทีมแพทย์ที่เป็นแพทย์เกี่ยวกับโรคติดเชื้อโดยตรงที่จะเข้ามาดูแล นอกจากนี้มีทีมพยาบาลที่มีความชำนาญเกี่ยวกับการเฝ้าระวังการติดเชื้อจะเข้ามาดูแลเกี่ยวกับระบบการรักษาและการปฏิบัติตัว การจัดการขยะจะไม่เป็นภาระของมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจะรับภาระในการกำจัดขยะติดเชื้อ ระบบบำบัดน้ำเสียจะใช้ทีมช่างโรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตากเข้ามาดูแลควบคุมคุณภาพน้ำและเติมคลอรีน ฯลฯ สำหรับระบบการคัดกรองผู้ป่วย กรณีผู้ป่วยมีอาการเพิ่มขึ้นจะรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
ดร.สนธยา ทองอรุณศรี ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก ได้ขอขอบคุณรองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และนายอำเภอเมืองตาก ที่ได้ชี้แจงและให้ข้อมูลเพื่อคลายความกังวลในข้อห่วงใยต่างๆ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก ยินดีให้การสนับสนุน สำหรับเรื่องการเรียนการสอน ภาคเรียนฤดูร้อนมหาวิทยาลัยประกาศให้มีการเรียนการสอนออนไลน์ 100% จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2564 นอกจากนี้กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ประกาศให้มหาวิทยาลัยทั่วประเทศจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายนเป็นต้นไป เพราะฉะนั้นขอให้บุคลากร นักศึกษา และผู้ปกครองมั่นใจว่าแม้จะเปิดใช้โรงพยาบาลสนามก็จะไม่กระทบกับการเรียนการสอน หากสถานการณ์ถึงขั้นที่ต้องมีการเปิดใช้โรงพยาบาลสนาม หมายความว่าสถานการณ์ของโรคขณะนั้นมีความรุนแรงขึ้น การเรียนการสอนก็จะถูกกำหนดให้จัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ต่อไปเช่นกัน
สำหรับขั้นตอนต่อไป คณะทำงานโรงพยาบาลสนามจังหวัดตากจะได้ดำเนินการทำประชาคมเพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่โดยรอบมหาวิทยาลัย เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะดำเนินการจัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสนามต่อไป
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา