เผยแพร่เมื่อ : พฤหัสบดี 24 มีนาคม 2565 โดย จารุวรรณ สุยะ จำนวนผู้เข้าชม 1,132 คน
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ร่วมขับเคลื่อนการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมสนับสนุนด้านวิชาการเกษตรแก่พี่น้องเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวุธ ชัยเนตร ผู้ช่วยอธิการบดีลำปาง เป็นผู้แทนผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ในนามประธานคณะกรรมการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS จังหวัดลำปาง ครั้งที่ 1/2565 โดยมีนายจำลักษณ์ กันเพ็ชร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุมชั้น 3 องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวุธ ชัยเนตร ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง กล่าวว่า ตามที่จังหวัดลำปางมีการส่งเสริมสนับสนุนการรับรองแปลงเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดลำปางและมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดลำปางกว่า 20 องค์กร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เป็นสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนครอบคลุม 6 จังหวัดภาคเหนือ ประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย น่าน ลำปาง ตาก และพิษณุโลก ในส่วนของจังหวัดลำปางมหาวิทยาลัยฯ มีทั้งการจัดการเรียนการสอนและสถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเกษตร ซึ่งท่านอธิการบดีฯ มีนโยบายให้มหาวิทยาลัยสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการการเกษตรให้กับพี่น้องเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และในอนาคต มหาวิทยาลัยจะได้นำนักศึกษามาร่วมเรียนรู้ในกระบวนการลงตรวจแปลง กระบวนการลงข้อมูลในระบบ OAN ตลอดจนถึงกระบวนการกลั่นกรองแปลงเกษตรอินทรีย์ เพื่อเป็นการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ วันนี้นับเป็นก้าวแรกของจังหวัดลำปางที่มีการรับรองแปลงเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ถือได้ว่าประสบผลสำเร็จลุล่วงได้เป็นอย่างดี
ด้านนางสุวรรณี เจียรสุวรรณ ประธานสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนลำปาง กล่าวว่า การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS เป็นกระบวนการรับรองแบบมีส่วนร่วม 3 ขั้นตอน คือขั้นตอนแรก ลงพื้นที่ตรวจแปลงโดยผู้ตรวจแปลงที่ผ่านการอบรมอย่างน้อย 3 คน ร่วมกันพัฒนาข้อมูลเกษตรกร ข้อมูลแปลงเกษตรกร และข้อมูลการตรวจแปลงให้สมบูรณ์ตามเกณฑ์การรับรองแปลง 22 ข้อในฐานข้อมูลระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ (Organic Agriculture Network-OAN) ขั้นตอนที่สองประชุมกลั่นกรองโดยคณะทำงานกลั่นกรองซึ่งเป็นคณะทำงานตรวจแปลงจากทั้งจังหวัดร่วมกันประชุมกลั่นกรองเป็นรายแปลง เพื่อพัฒนาข้อมูลให้สมบูรณ์และลงมติให้ผ่านการกลั่นกรองเป็นแปลงอินทรีย์ แปลงระยะปรับเปลี่ยนสู่อินทรีย์ หรือไม่ผ่านการกลั่นกรองและต้องกลับไปพัฒนาเพิ่มเติม และชั้นตอนที่สาม การประชุมรับรองโดยคณะกรรมการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS ระดับจังหวัด เมื่อผ่านการรับรองแล้ว เกษตรกรจะได้รับหนังสือสำคัญรับรองแปลง ฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยจะมีตราสัญลักษณ์และ QR Code เพื่อการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ที่เกษตรกรสามารถนำไปติดกับฉลากสินค้าเพื่อสื่อสารกับผู้บริโภคได้ นับ เป็นการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการประกอบการของเกษตรกร จากการประชุมมีมติรับรองแปลงอินทรีย์จำนวน 25 แปลง พื้นที่รวม 223.03 ไร่ แปลงระยะปรับเปลี่ยนสู่อินทรีย์จำนวน 88 แปลง พื้นที่รวม 424.24 ไร่ รวมทั้งสิ้น 113 แปลง 647.27 ไร่
สำหรับการจัดประชุมดังกล่าวจัดโดยสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนลำปางโดยจัดแบบ Onsite และ Online ผ่าน Zoom Cloud Meeting ภายใต้มาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (D-M-H-T-T-A)
เรียบเรียง : จารุวรรณ สุยะ
ที่มาของข่าว / ภาพ : อ.สุวรรณี เจียรสุวรรณ
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา