เผยแพร่เมื่อ : พุธ 20 เมษายน 2565 โดย ราตรี ทิพเนตร จำนวนผู้เข้าชม 1,507 คน
วันนี้ 19 เมษายน 2565 เวลา 08.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประทับรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักธงน้อยไปยังศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการเครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และ ดร.วิโรจน์ มงคลเทพ ผู้ช่วยอธิการบดี น่าน ร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จ
เวลา 08.15 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการของหน่วยงานต่างๆ ที่ดำเนินงานสนองพระราชดำริด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากป่า เพื่อให้คนอยู่กับป่า และมีรายได้เสริมจากการปลูกพืชโดยไม่ทำลายป่า
จากนั้นเวลา 08.45 น. เสด็จเข้าอาคารยิมเนเซียม โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทูลเกล้า ฯ ถวายสูจิบัตร นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกราบบังคมทูลรายงานการจัดงานสัมมนา “รักษ์ป่าน่าน” ครั้ง ที่ 5 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีมีพระราชดา ตรัสเปิดการสัมมนา “รักษ์ป่าน่าน” ครั้ง ที่ 5 ทรงบรรยาย หัวข้อ “ร่วมใจ รักษ์ป่าน่าน” และทรงทอดพระเนตรการเสวนา “ชีวิตบ้านน้ำจูน” โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ นายบัณฑูร ล่ำซำ และนางสาวสุภาดา ใจปิง จากนั้นทรงทอดพระเนตรการเสวนา “หมู่เฮาร่วมอ๊กร่วมใจ๋เดินหน้าไปโตยกั๋น” ผู้ร่วมเสวนา นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน พลตรี รุศมนตรี จิณเสน และนายเสาร์ คามูลอินทร์ โดยมี นางสาวภิญญาพัชญ์ ด่านอุตรา เป็นผู้ดำเนินรายการ จากนั้นทรงพระราชทานของที่ระลึกให้แก่วิทยากร และผู้ดำเนินรายการ
สำหรับโครงการ “รักษ์ป่าน่าน” เริ่มตั้งแต่ปี 2556 มีสำนักงานโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นผู้อำนวยการโครงการ ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กองทัพบก มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และจังหวัดน่าน โดยมีธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้สนับสนุนและประสานงานโครงการ ซึ่งป่าไม้น่านเป็นป่าต้นน้ำสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย น่าเสียดายที่ป่าไม้เมืองน่าน ซึ่งเป็นป่าสงวนที่อุดมสมบูรณ์ได้ถูกรุกล้ำทำลาย จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ทำให้ภูเขาที่เคยสวยงามกลับหัวโล้นจนน่าขนลุก หากไม่ช่วยกันป้องกันและเร่งมือฟื้นฟูรักษาป่าไม้น่านเสียแต่บัดนี้ อนาคตคนน่าน ลูกหลานน่าน และคนไทย จะได้รับผลกระทบจากความสูญเสียอย่างคาดไม่ถึง
โดยวัตถุประสงค์การริเริ่มโครงการ “รักษ์ป่าน่าน” คือ การทำความเข้าใจกับสาเหตุเบื้องลึกของการตัดไม้ทำลายและลุกล้ำป่า การติดตามข้อมูลเชิงคณิตศาสตร์ ให้เห็นแนวโน้มการตัดไม้ทำลายป่าด้วยภาพถ่ายจากดาวเทียม ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้เป็นรายตำบล ประสานงานกับบุคคลที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ แล้วสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจให้กับพืชผลการเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงฝีมือคนน่าน รวมทั้งเส้นทางใหม่ของการขายสินค้าอิงโลกออนไลน์ ทั้งหมดนี้ ต้องทำ “ศาสตร์” ที่จำเป็นให้แจ้ง อันได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ พาณิชยศาสตร์ รัฐศาสตร์ และจิตศาสตร์ พร้อมระดมสรรพกำลังทั้งหมดเท่าที่จะแสวงหาได้อย่างสุดกำลังความสามารถที่มนุษย์พึงมี เพื่อรักษาป่าไม้น่าน ให้เป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญดังเดิม
ขอขอบคุณภาพและข้อมูลข่าว
ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย CLNR
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา