โลโก้เว็บไซต์ มทร.ล้านนา เข้าร่วมดำเนินการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย OPC ปี พ.ศ. 2565 จังหวัดลำพูน | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

มทร.ล้านนา เข้าร่วมดำเนินการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย OPC ปี พ.ศ. 2565 จังหวัดลำพูน

เผยแพร่เมื่อ : พุธ 25 พฤษภาคม 2565 โดย รัตนาภรณ์ สารภี จำนวนผู้เข้าชม 856 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

 

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ว่าที่ร้อยตรีรัชต์พงษ์ หอชัยรัตน์ บุคลากรสถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เข้าร่วมดำเนินการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ปี พ.ศ.2565 (OTOP Product Champion : OPC) จังหวัดลำพูน ณ โรงแรม แกรนด์ ปา โฮเทล แอนด์รีสอร์ท ลำพูน ตำบลเวียงยอง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน โดยมีนายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน และนางปนัดดา เนาวรัตน์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดลำพูน เยี่ยมให้กำลังใจและมอบแนวทางการดำเนินงานแก่คณะกรรมการ

 

การคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ปี พ.ศ.2565 (OTOP Product Champion : OPC) จังหวัดลำพูน ดำเนินการโดย นางบำเพ็ญ เมืองมูล พัฒนาการจังหวัดลำพูน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดระดับผลิตภัณฑ์ (Product Level) ที่จะนำไปสู่การพัฒนา (Product Development) ระดับประเทศ จัดระบบฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์ (Profile) ที่จะใช้ในการทำงานเชิงบูรณาการของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์และเสริมสร้างคุณค่าของผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับแก่บุคคลทั่วไปจนสามารถใช้เป็นแหล่งสร้างรายได้และความเข้มแข็งให้กับชุมชน และกระตุ้นให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ OTOP และชุมชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยมีสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเป็นหน่วยดำเนินการ 

 

สำหรับการคัดสรรฯ ในปี พ.ศ. 2565 นี้ ได้มีการกลั่นกรอง ให้ค่าคะแนนโดยใช้หลักเกณฑ์พิจารณาเฉพาะแต่ละประเภทผลิตภัณฑ์ 3 ด้าน ประกอบด้วย 1)หลักเกณฑ์ด้านผลิตภัณฑ์และความเข้มแข็งของชุมชน 2)หลักเกณฑ์ด้านการตลาด ความเป็นมาของผลิตภัณฑ์ และ 3)หลักเกณฑ์ด้านคุณภาพ ซึ่งจะมีการแบ่งเป็นระดับการคัดสรรฯ ดังนี้ ระดับ 1 ดาว หมายถึง เป็นสินค้าที่ยังไม่สามารถพัฒนาสู่ระดับ 2 ดาว ได้ เนื่องจากมีจุดอ่อนมากและพัฒนายาก, ระดับ 2 ดาว หมายถึง เป็นสินค้าที่สามารถพัฒนาสู่ระดับ 3 ดาว มีการประเมินศักยภาพเป็นระยะ, ระดับ 3 ดาว หมายถึง เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ระดับกลาง ที่สามารถพัฒนาสู่ระดับ 4 ดาว ได้, ระดับ 4 ดาว หมายถึง เป็นสินค้าที่มีศักยภาพ เป็นที่ยอมรับระดับประเทศ และสามารถพัฒนาสู่สากล และระดับ 5 ดาว หมายถึง เป็นสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐานหรือมีศักยภาพในการส่งออก จังหวัดลำพูน มีจำนวน ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP มีความประสงค์ส่งผลิตภัณฑ์เข้ารับการคัดสรรฯ จำนวน 154 กลุ่ม/ราย ผลิตภัณฑ์ จำนวน 402 ผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย ประเภทอาหาร 47 ผลิตภัณฑ์, เครื่องดื่ม 4 ผลิตภัณฑ์, ผ้าและเครื่องแต่งกาย 288 ผลิตภัณฑ์, ของใช้ 36 ผลิตภัณฑ์ และประเภทสมุนไพร 27 ผลิตภัณฑ์

 

ข้อมูล/ภาพ รัชต์พงษ์ หอชัยรัตน์







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

Facebook Messenger icon