เผยแพร่เมื่อ : พุธ 19 ตุลาคม 2565 โดย วรรธนพงศ์ เทียนนิมิต จำนวนผู้เข้าชม 780 คน
19 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันเทคโนโลยีของไทย เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในฐานะทรงเป็น "พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย" และยังเป็นการร่วมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด ทรงศึกษาค้นคว้าวิจัย และทรงนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ตลอดจนเป็นการแสดงเทคโนโลยี ที่คิดค้นประดิษฐ์และพัฒนาโดยคนไทย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้สาธารณชนเกิดความเชื่อมั่นและเข้าร่วมพัฒนาเทคโนโลยีของไทย โดยโครงการที่ก่อกำเนิดจากพระมหากรุณาธิคุณ ทรงริเริ่มโครงการได้แก่
โครงการฝนหลวงหรือฝนเทียม ใช้กรรมวิธีการสร้างฝนจริง ๆ อาศัยไอน้ำที่อยู่ในบรรยากาศ ของก้อนเมฆซึ่งในหน้าแล้งมักจะลอยผ่านพื้นที่แห้งแล้งไป โดยไม่กลายเป็นน้ำฝน และใช้เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งการบิน เป็นเครื่องมือสร้างความเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติ ทำให้ก้อนเมฆโตขึ้น และสร้างสถานการณ์ที่ทำให้เกิดแรงลมช่วยลดระดับของก้อนเมฆที่โตขึ้น จนกลั่นตัวเป็นหยดน้ำฝนตกลงในพื้นที่เป้าหมายได้สำเร็จ
โครงการกังหันน้ำชัยพัฒนา ได้ทรงประดิษฐ์คิดค้น "เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย" หรือ "กังหันชัยพัฒนา" เพื่อทำหน้าที่เติมออกซิเจนลงไปในน้ำ เป็นการลดมลภาวะทางน้ำ ถือได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ของการออกสิทธิบัตรแก่สิ่งประดิษฐ์ของไทย
โครงการ "แกล้งดิน" โดยทรงพบว่า ดินพรุเป็นดินเปรี้ยวจัด ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ จึงมีพระราชดำริว่า ควรแกล้งทำให้ดินเปรี้ยวจนถึงที่สุด แล้วทำ "วิศวกรรมย้อนรอย" หาทางปรับปรุงดินที่เปรี้ยวนั้น เพื่อจะได้รู้วิธีแก้ไข และป้องกันไม่ให้เกิดสภาพเปรี้ยวแบบที่เคยเป็น จากนั้นจึงมีการปรับปรุงดินเปรี้ยวโดยวิธีการต่าง ๆ
จนทำให้พื้นดินที่เปล่าประโยชน์และไม่สามารถทำอะไรได้ กลับฟื้นคืนสภาพที่สามารถทำการเพาะปลูกได้อีกครั้งหนึ่ง
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ขอน้อมนำ สานต่อ ศาสตร์พระราชา นำความรู้ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาปรับใช้ในการพัฒนาให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพระบบนิเวศในชุมชนพื้นที่โครงการหลวงและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ประหยัด ช่วยทุ่นแรงงาน และมุ่งพัฒนาคนให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- technology.thai.net
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา