เผยแพร่เมื่อ : เสาร์ 4 กุมภาพันธ์ 2566 โดย สกนธ์ เรืองฉาย จำนวนผู้เข้าชม 1,790 คน
วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ เวลา 18.00 น. ผศ.ดร.วิโรจน์ มงคลเทพ ผู้ช่วยอธิการบดี น่าน เข้าร่วมพิธีเปิดการจัดการแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 70 ปีการศึกษา 2565 ภาคเหนือ เปิดเวทีให้นักเรียนแสดงออกถึงความรู้ ความสามารถ พัฒนาทักษะด้านวิชาการ วิชาชีพ ดนตรี นาฏศิลป์ ศิลปะ และทักษะชีวิต โดยมี ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในพิธีเปิด ซึ่งมีนายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน , นายชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน , นายนพรัตน์ ถาวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน และหัวหน้าส่วนราชการ คณะครู นักเรียน ให้การต้อนรับ ณ ข่วงเมืองน่าน อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดการแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ในนามกระทรวงศึกษาธิการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ทรงริเริ่มการจัดงานศิลปหัตถกรรมสืบสานถ่ายทอดสู่อนุชนรุ่นหลัง อีกทั้งการจัดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน มุ่งหวังให้เป็นเวทีที่นักเรียนได้แสดงออกถึงความรู้ ความสามารถ พัฒนาทักษะด้านวิชาการ วิชาชีพ ดนตรี นาฏศิลป์ ศิลปะ ทักษะชีวิต โดยเน้นหลักกิจกรรมพัฒนาสมอง จิตใจ การลงมือปฏิบัติ และสุขภาพ ให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเอง นักเรียนได้ฝึกฝนทักษะฝีมือในด้านที่ถนัด พัฒนาให้เกิดความเป็นเลิศ เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพในอนาคต และเผยแพร่ผลงานสู่สายตาสาธารณชน สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ส่งเสริม Soft Power ในบริบทของแต่ละท้องถิ่น ผ่านการแสดงในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งการนำเสนอนิทรรศการที่มีชีวิต
การจัดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 70 ปีการศึกษา 2565 ภาคเหนือ ซึ่งจังหวัดน่าน เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน ระหว่างวันที่ 3-5 กุมภาพันธ์ 2566 ภายใต้กรอบแนวคิด “เด็กเหนือรักษ์ถิ่น สืบศิลป์ หัตถกรรม เทคโนโลยีก้าวล้ำ นำภูมิปัญญาสู่สากล” ซึ่งมีโรงเรียนทุกสังกัดในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเข้าร่วมการแข่งขัน โดยมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้นจำนวน 56 เขตพื้นที่การศึกษาใน 16 จังหวัด ภาคเหนือ
สำหรับการจัดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 71 ภาคเหนือ จังหวัดตาก จะเป็นเจ้าภาพในการจัดงานในครั้งต่อไป
ขอบคุณข่าว : ประชาสัมพันธ์จังหวัดน่าน
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา