โลโก้เว็บไซต์ มทร.ล้านนา ร่วมพิธีทำบุญ 5 ศาสนาและตักบาตรพระสงฆ์ถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 91 พรรษา 12 สิงหาคม 2566 | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

มทร.ล้านนา ร่วมพิธีทำบุญ 5 ศาสนาและตักบาตรพระสงฆ์ถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 91 พรรษา 12 สิงหาคม 2566

เผยแพร่เมื่อ : เสาร์ 12 สิงหาคม 2566 โดย วิทยา กวีวิทยาภรณ์ จำนวนผู้เข้าชม 2,032 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

            มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ล้านนา ร่วมพิธีทำบุญ 5 ศาสนา และตักบาตรพระสงฆ์ถวายเป็นพระราชกุศล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 91 พรรษา 12 สิงหาคม 2566
            วันที่ 12 สิงหาคม 2566 เวลา 07.00 น. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีระศักดิ์ สมศักดิ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ล้านนา นำบุคลากรสังกัดสถาบันวิจัยและพัฒนา ในนาม มทร.ล้านนา เข้าร่วมพิธีทำบุญ 5 ศาสนา ประกอบด้วย ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ศาสนาซิกข์ และศาสนาพราหมณ์-ฮินดู พร้อมทั้งร่วมตักบาตรพระสงฆ์จำนวน 92 รูป ถวายเป็นพระราชกุศล  สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 91 พรรษา 12 สิงหาคม 2566 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธี เพื่อแสดงความจักภักดีและน้อมสำนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ  

     สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระนามเดิม หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เป็นพระธิดาพระองค์ใหญ่ของพลเอก พระวรวงศ์เธอกรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ กับหม่อมหลวงบัว กิติยากร มีฐานันดรเมื่อแรกพระราชสมภพคือ “หม่อมราชวงศ์” เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม 2475 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาพระราชทานนามว่า “สิริกิติ์” มีความหมายว่า “ผู้เป็นศรีแห่งกิติยากร”

พระองค์ทรงเป็น “สมเด็จพระราชชนนี” ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และทรงมีพระราชธิดาอีก 3 พระองค์ ปัจจุบันทรงมีพระชนมพรรษา 86 พรรษา ทรงจบการศึกษาจากโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ พร้อมพระอัจฉริยภาพด้านภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และทรงเปียโน จากนั้นทรงติดตามพระราชบิดา ซึ่งดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ ประเทศอังกฤษ ประเทศเดนมาร์ก ประเทศฝรั่งเศส โดยยังทรงเรียนเปียโนและทรงศึกษาต่อในวิทยาลัยการดนตรีของกรุงปารีส

ในวันที่ 28 เมษายน 2493 ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ที่วังสระปทุม และทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น “สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์” จากนั้นในวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 ซึ่งเป็นวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงได้รับการสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศขึ้นเป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี” ที่มีพระชนมพรรษาน้อยที่สุดในโลก
ต่อมาในวันที่ 20 กันยายน 2499 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างที่ทรงผนวชเป็นเวลา 15 วัน และในปีเดียวกัน วันที่ 5 ธันวาคม พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระปรมาภิไธย เป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” นับเป็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระองค์ที่ 2 ของประเทศไทย ต่อจากสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 5

          ตลอดระยะ 70 ปี ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานับปการ เคียงคู่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นับเป็นช่วงเวลาของความทรงจำและความซาบซึ้ง ของปวงชนชาวไทย ที่มีบุคคลที่ยิ่งใหญ่ และมีพระคุณอันประเสริฐ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไม่เพียงแต่ทรงเป็นพระราชมารดาขององค์พระมหากษัตริย์ แต่ยังทรงเป็นพระราชมารดาของปวงเหล่าพสกนิกรไทย จากพระราชประวัติ พระองค์ท่านได้พระราชทานความช่วยเหลือพสกนิกรผู้ยากไร้ ให้สามารถพึ่งพาตนเองในด้านต่าง ๆ ได้อย่างมั่นคงยั่งยืน และทรงปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ด้วย พระราชหฤทัยที่เปี่ยมด้วยพระเมตตา เป็นที่ประจักษ์ประทับอยู่ในใจของทุกคน ก่อให้เกิดความสงบร่มเย็น ตลอดจนความเจริญก้าวหน้า แก่ประเทศชาติและประชาชนตลอดมา 
       ปัจจุบัน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระองค์ มีจำนวนทั้งสิ้น 948 โครงการ แบ่งเป็น 1.โครงการพัฒนาด้านส่งเสริมอาชีพ 260 โครงการ อาทิ โครงการส่งเสริมศิลปาชีพ, โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ 2.โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม 61 โครงการ อาทิ โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าพื้นที่รอยต่อ 5 จังหวัด, โครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ, โครงการป่าสักนวมินทราชินี 3.โครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ 499 โครงการ อาทิ โครงการป่ารักน้ำตามพระราชดำริ, โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยหินชะแนนใหญ่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ 4.โครงการพัฒนาเกษตร 38 โครงการ อาทิ สถานีพัฒนาเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ดอยคำ, สถานีเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านกอก-บ้านจูน 5.โครงการพัฒนาด้านคมนาคม/การสื่อสาร 14 โครงการ อาทิ โครงการลาดยางถนนคันกั้นน้ำบ้านศรีพงัน-ประตูระบายน้ำปลายคลองมูโนะ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ 6.โครงการสวัสดิการพัฒนาสังคม/การศึกษา 5 โครงการ อาทิ โครงการหมู่บ้านยามชายแดน ตามพระราชดำริ, โครงการธนาคารอาหารชุมชน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ 7.โครงการพัฒนาด้านบูรณาการ/อื่นๆ 71 โครงการ อาทิ โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่, โครงการฟื้นฟูอาหารช้างป่า อันเนื่องมาจากพระราชดำริ







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

Facebook Messenger icon