โลโก้เว็บไซต์ ขอแสดงความยินดีกับ รองศาสตราจารย์ ดร.พานิช อินต๊ะ อาจารย์ประจำวิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ ที่ได้รับรางวัลพระราชทาน  | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

ขอแสดงความยินดีกับ รองศาสตราจารย์ ดร.พานิช อินต๊ะ อาจารย์ประจำวิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ ที่ได้รับรางวัลพระราชทาน

เผยแพร่เมื่อ : อังคาร 18 ตุลาคม 2559 โดย นายนิพนธ์ เขื่อนแก้ว จำนวนผู้เข้าชม 3,667 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

วันอังคาร ที่ 18 ตุลาคม 2559 

รองศาสตราจารย์ ดร.พานิช อินต๊ะ อาจารย์ประจำวิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้รับรางวัลพระราชทาน "นักเทคโนโลยีรุ่นใหม่" ประจำปี พ.ศ. 2559" จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์

จากผลงานเครื่องวัดปริมาณมวลฝุ่นละออง PM10 และ PM2.5 ในอากาศด้วยเทคนิคไฟฟ้าสถิต เครื่องวัดปริมาณมวลฝุ่นละออง PM10 และ PM2.5 ในอากาศที่พัฒนาขึ้นใช้หลักการวัดกระแสไฟฟ้าสถิต (Electrostatic current)

ของอนุภาคผ่านตัวกรองฝุ่นละอองประสิทธิภาพสูง (High Efficiency Particulate-Free Air Filter หรือ HEPA) สามารถตรวจจับและเก็บตัวอย่างฝุ่นละอองในอากาศทั้งฝุ่นที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า 10 ไมโครเมตร (PM10) และ 2.5 ไมโครเมตร (PM2.5) ได้อย่างรวดเร็วใช้เวลาในการประมวลผลเร็วถึง 0.1 วินาที มีช่วงการวัดระหว่าง 0 ถึง 1,000 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

เครื่องต้นแบบสามารถทำงานได้เทียบเคียงกับเครื่องมือที่มีใช้ในปัจจุบัน เช่น ParticleScan, Thermo Scientific TEOM Series 1400ab, Thermo Scientific Model 5014i Beta, Thermo Scientific Model FH62C14 Beta Gauge จึงทำให้สามารถศึกษาพฤติกรรมการเคลื่อนที่ของฝุ่นละอองในอากาศได้ มีการเชื่อมโยงข้อมูลผลการตรวจวัดแบบไร้สายผ่านระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 3G และสามารถแสดงผลการวัด บันทึกข้อมูล และแสดงผลเป็นกราฟและตารางในเชิงปริมาณฝุ่นต่อเวลาในเว็บบราวน์เซอร์ http://cmuccdc.org/ หรือ http://www.livebox.me /ruee2559/ หรือ www.ruee-rmutl.com

และมีการบำรุงรักษาต่ำ สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องถึง 1,000 ชั่วโมง ใช้วัสดุอุปกรณ์หลายๆ ส่วนทดแทน ฝีมือ เครื่องจักร และเทคโนโลยีการผลิตในการประกอบติดตั้งและสร้างจากภายในประเทศ 100% มีการออกแบบเครื่องให้มีขนาดที่สะดวกต่อการเคลื่อนย้ายและทนทาน เหมาะสำหรับงานภาคสนาม เครื่องต้นแบบได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้บริษัท เฟบิกซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2557 ให้สิทธิใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยในการผลิตเพื่อเชิงพาณิชย์ ในปัจจุบันเครื่องต้นแบบได้ทำการติดตั้งและใช้ประโยชน์จริงจำนวน 5 สถานีในภาคเหนือและภาคใต้ คือ
1) สถานีตรวจวัดโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่
2) สถานีตรวจวัดคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
3) สถานีตรวจวัดโรงพยาบาลเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
4) สถานีตรวจวัด มทร.ล้านนา อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ และ
5) สถานีตรวจวัดคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่

วิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ ขอแสดงความยินดียิ่ง มา ณ โอกาสนี้ 

ข่าวโดย : งานประชาสัมพันธ์ วทส.
ขอบคุณเนื้อหาและรูปภาพจาก : ดร.ภาสวรรธน์ วัชรดำรงศักดิ์ รองอธิการบดีด้านวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี มทร.ล้านนา







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

Facebook Messenger icon