โลโก้เว็บไซต์ น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช

เผยแพร่เมื่อ : ศุกร์ 29 กันยายน 2566 โดย อภิญญา พูลทรัพย์ จำนวนผู้เข้าชม 4,748 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

         พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช พระราชสมภพเมื่อ วันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๓๔๗ ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีชวด ฉศกจุลศักราช ๑๑๖๖ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๒ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และสมเด็จพระ ศรีสุริเยนทราบรมราชินี ณ พระราชวังเดิม พระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อพระชนมายุย่างเข้า ๙ พรรษา (พ.ศ. ๒๓๕๖) สมเด็จพระบรมชนกนาถ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดให้มีพระราชพิธีลงสรงเป็นครั้งแรก ในกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ดำรงพระราชเกียรติยศรับพระราชทานพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมติเทววงศ์พงศ์อิศวร กษัตริย์ วรขัตติยราชกุมาร" ปรากฏตามอเนกนิกรชนสมมติ เรียกพระนามว่า "ทูลกระหม่อมฟ้าพระองค์ใหญ่"

          ในปี พ.ศ.๒๓๙๔ (พระชนมายุได้ ๔๗ พรรษา ทรงผนวชมาได้ ๒๗ พรรษา) พระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ได้เข้ากราบถวายบังคมทูลอัญเชิญเสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ สืบพระราช สันติวงศ์ รัชกาลที่ ๔ โดยมีพระราชปรมาภิไธยโดยย่อว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรามหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" นับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มสร้างความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่าง พระมหากษัตริย์กับ อาณาประชาราษฎร ให้เข้ากับกาลสมัยในรูปใหม่ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน การเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่พระองค์ ทรงอยู่ในสมณเพศนานถึง ๒๗ พรรษา ได้เสด็จธุดงค์ไปยังหัวเมืองต่างๆ เป็นโอกาสให้ทรงได้รับรู้สภาพความเป็นอยู่ โดยแท้จริงของ ราษฎรส่วนใหญ่ด้วยพระองค์เอง

          นับเป็นประสบการณ์ที่มีค่ายิ่ง และเป็นการเตรียมพระองค์เพื่อปกครองบ้านเมืองในอนาคต เป็นอย่างดี ประกอบกับลัทธิจักรวรรดินิยม ที่แผ่ขยายมายังประเทศใกล้เคียงในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และในทวีปเอเซีย ทำให้พระองค์ทรง ตระหนักว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศสยาม จะต้องยอมรับอิทธิพลวัฒนธรรมตะวันตก และเร่งปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย โดยทรงปฏิบัติ พระราชกรณียกิจในหลายๆ ด้านไปพร้อมๆ กันด้วยพระบรมราโชบายที่มีทรรศนะไกล และด้วยความสุขุมคัมภีรภาพ คือ

  • ด้านการต่างประเทศ
  • ด้านการเสริมสร้างความมั่นคง และการป้องกันพระราชอาณาจักร
  • ด้านการปฏิรูปการปกครอง
  • ด้านการทำนุบำรุงอาชีพของราษฎร และการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ และการคลัง
  • ด้านบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎร
  • ด้านบำรุงศึกษาศาสตร์
  • ด้านพระราชพิธี ประเพณี ธรรมเนียม
  • ด้านพระศาสนา
  • ด้านการก่อสร้าง

          พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นว่า การศึกษาสมัยใหม่ เป็นสิ่งจำเป็นในการปรับปรุงบ้านเมืองให้ทันสมัย เป็นที่ยอมรับของประเทศมหาอำนาจตะวันตก ทรงสนับสนุนงานริเริ่มจัดการศึกษาสมัยใหม่ โดยคณะมิชชั่นนารี อย่างดียิ่ง ทรง เป็น "องค์วิชาการ" ทรงใฝ่พระทัยศึกษาด้วยพระองค์เอง ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ วรรณคดี ปรัชญาศาสนาต่างๆ ภาษาต่างประเทศ คณิตศาสตร์ และดาราศาสตร์ ใน พ.ศ.๒๔๑๑ ปรากฎว่า พระองค์ทรงสามารถคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ที่ตำบล หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้อย่างแม่นยำ เป็นที่เลื่องลือในวงการดาราศาสตร์ทั่วไป

ขอบคุณข้อมูลจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เวบไซต์ https://www.kmitl.ac.th/






ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

Facebook Messenger icon