เผยแพร่เมื่อ : พฤหัสบดี 25 มกราคม 2567 โดย วิทยา กวีวิทยาภรณ์ จำนวนผู้เข้าชม 1,205 คน
วันที่ 25 มกราคม 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ธีระศักดิ์ อุรัจนานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและกิจการนักศึกษา ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมเกียรติ วงษ์พานิช รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร และนักวิชาการศึกษา กองพัฒนานักศึกษา ร่วมให้การต้อนรับนายแพทย์กฤษณ์ติพงษ์ อรัญสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายและจิตเวชชุมชนโรงพยาบาลสวนปรุง และบุคลากรจากศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 เชียงใหม่ ในโอกาสเดินทางเข้าร่วมประชุมหารือและสร้างเครือข่ายขับเคลื่อนกิจกรรมส่งเสริมและการแก้ไขปัญหาความเครียดและภาวะซึมเศร้าของนักศึกษารวมถึงบุคลากรภายในมหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมซอมพอ ชั้น 2 อาคารสำนักงานอธิการบดี เพื่อกำหนดแนวทางการบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อนกิจกรรมดูแลสภาพจิตใจและการป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิตภายในสถานศึกษา ทั้งบุคลากรและนักศึกษา
โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จัตตุฤทธิ์ กล่าวว่า “ปัจจุบันพบว่านักเรียน/นักศึกษามี “ภาวะซึมเศร้า”สูงขึ้น เสี่ยงต่อการทำร้ายตัวเองมากกว่าผู้ใหญ่วัยทำงาน สาเหตุอาจมาจากครอบครัวคนรอบข้างที่คาดหวังความสำเร็จในการเรียนของนักศึกษามากเกินไป ซึ่งนับเป็นโอกาสดีที่ทางโรงพยาบาลสวนปรุง และศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 เชียงใหม่ ได้เข้ามาร่วมหารือและหาแนวทางการขับเคลื่อนกิจกรรมที่มุ่งส่งเสริมให้นักศึกษามีทักษะการปฏิบัติตัวในการเรียนอย่างไรให้มีความสุข รู้จักและเข้าใจตนเอง สามารถประเมินสภาวะสุขภาพจิตของตนเองและเพื่อนรอบข้างในเบื้องต้นได้ โดยให้สอดแทรกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องผ่านกลไกการจัดงานปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ ประจำปี 2567 นี้ และอยากให้มีกิจกรรมหมุนเวียนตลอดทั้งปี ควบคู่กับการตรวจประเมินสุขภาพจิตและความเครียดสะสมของบุคลากรทั้งสายวิชาการและสายสนันสนุนไปพร้อมๆกัน โดยมีกองพัฒนานักศึกษา เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน และขอขอบคุณทีมงานจากโรงพยาบาลสวนปรุง และศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 อีกครั้ง ที่ได้นำสิ่งดีๆมาให้กับมหาวิทยาลัย ในนามคณะผู้บริหารมีความยินดีให้การสนับสนุนในทุกมิติ ”
จากการเปิดเผยผลสำรวจสถานการณ์สุขภาพจิตในปี 2566 โดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณะสุข พบว่าวัยรุ่นและเยาวชนในช่วงอายุ 15-24 ปี มีคะแนนสุขภาพจิตต่ำ โดยกลุ่มที่อายุต่ำกว่า 20 ปี มีความเครียดในระดับสูง มีความเสี่ยงภาวะซึมเศร้าและเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูงกว่าประชากรกลุ่มวัยทำงาน ทั้งนี้ผลการสำรวจยังบ่งชี้ว่านักเรียน นักศึกษาเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีโอกาสเกิดปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และเครียด ซึ่งถ้าหากไม่ได้รับการดูแลสร้างเสริมการมีสุขภาพจิตที่ดี อาจนำไปสู่ปัญหาในการดำเนินชีวิตและกระทบต่อสังคมคนรอบข้างได้ในอนาคต ทั้งนี้ ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว ควบคู่กับการดำเนินการแก้ปัญหาในเชิงรุก ด้วยการจัดกิจกรรมดูแลสภาพจิตใจของนักศึกษาและบุคลากร ร่วมกับศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 เชียงใหม่ ที่เป็นรูปธรรมเพื่อให้สามารถคัดกรองประเมินสุขภาพจิตตัวเองและผู้อื่นได้ พร้อมทั้งมีทักษะเบื้องต้นในการดูแลสภาพจิตใจของตนเองจากปัญหาที่ประสบอยู่
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา