เผยแพร่เมื่อ : พุธ 17 เมษายน 2567 โดย วิทยา กวีวิทยาภรณ์ จำนวนผู้เข้าชม 8,640 คน
วันที่ 17 เมษายน 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชัยปฐมพร ธนพัฒน์ปวงวัน ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมศึกษา ดร.นวรัตน์ พรหมอุปถัมป์ รองผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุพจน์ ใหม่กันทะ อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ พร้อมด้วยคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จัดริ้วขบวนแห่เครื่องสักการะประกอบด้วยโตกน้ำขมิ้นส้มป่อย พานดอกไม้ เข้าร่วมในพิธีสักการะกู่เจ้าหลวงเชียงใหม่ ประจำปี 2567 เนื่องในประเพณีปี๋ใหม่เมือง ซึ่งได้ตั้งริ้วขบวนบริเวณด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเคลื่อนเข้าสู่พิธี ณ วัดสวนดอก พระอารามหลวง โดยมีนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวรผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายเครื่องสักการะ ถวายพวงมาลัยน้ำสระเกล้าดำหัว บนสายสิญจน์ที่โยงมาจากกู่เจ้าหลวงและพระราชชายาเจ้าดารารัศมี จากนั้นเจ้านายฝ่ายเหนือ หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ผู้บริหารสถาบันการศึกษา นักศึกษาถวายสักการะรดน้ำตามลำดับ
พิธีดังกล่าวถือเป็นพิธีสำคัญที่ชาวเชียงใหม่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและแสดงความกตัญญูกตเวทิตา ที่เจ้าหลวงเชียงใหม่และทายาทเจ้านายฝ่ายเหนือ ร่วมกันกอบกู้อิสรภาพและปกครองล้านนาให้อยู่เย็นเป็นสุข ช่วยกันอนุรักษ์สืบทอดและรักษาศิลปะวัฒนธรรมประเพณีความเป็นอยู่อย่างชาวล้านนามาจนถึงทุกวันนี้ อันเป็นเอกลักษณ์ที่ยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียงไปทั่วโลก และเป็นการแสดงความเคารพสักการะเนื่องในประเพณีปี๋ใหม่เมืองอีกด้วย โดยได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีการเคลื่อนขบวนเครื่องสักการะล้านนาจากหอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาตามถนนสุเทพ สิ้นสุดที่บริเวณกู่เจ้าหลวงเชียงใหม่ ภายในวัดสวนดอก (พระอารามหลวง) จากนั้นประชาชนทุกหมู่เหล่าได้เข้าไปถวายเครื่องสักการะ อีกด้วย
กู่เจ้าหลวงเชียงใหม่ เป็นกู่ที่บรรจุอัฐิของเจ้าหลวงเชียงใหม่และพระญาติวงศ์ในสายสกุล แต่เดิมประดิษฐานบริเวณข่วงเมรุ หรือตลาดวโรรส ซึ่งเป็นสนามโล่งไว้ใช้เผาพระศพของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ถ้าเทียบกับกรุงเทพมหานคร ก็คือทุ่งพระเมรุ หรือสนามหลวงในปัจจุบัน เมื่อเผาแล้วจะสร้างกู่หรืออัฐิขึ้นในบริเวณนั้น ต่อมาได้มีการย้ายมารวมไว้ในที่แห่งเดียว ณ บริเวณวัดสวนดอก (พระอารามหลวง) โดยพระดำริของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เมื่อ พ.ศ. 2452
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา