โลโก้เว็บไซต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา สร้างความร่วมมือกับ 4 มหาวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี) ร่วมประชุมหารือ และนำเสนอกระบวนการขับเคลื่อน การสร้างความเข้มแข็ง และการบริหารจัดการที่ดีสำหรับกลุ่มเกษตรการแปรรูป  ในการสนับสนุนการดำเนินงาน ณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา สร้างความร่วมมือกับ 4 มหาวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี) ร่วมประชุมหารือ และนำเสนอกระบวนการขับเคลื่อน การสร้างความเข้มแข็ง และการบริหารจัดการที่ดีสำหรับกลุ่มเกษตรการแปรรูป ในการสนับสนุนการดำเนินงาน ณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

เผยแพร่เมื่อ : จันทร์ 19 สิงหาคม 2567 โดย วรรธนพงศ์ เทียนนิมิต จำนวนผู้เข้าชม 360 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

     วันที่ 18 สิงหาคม 2567 ผู้ช่วยศาสตรจารย์วรจักร์ เมืองใจ ผู้อำนวยการสถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน หัวหน้ากลุ่มแผนงานใต้ร่มพระบารมี พร้อมด้วยนางสาวพิมลพรรณ เลิศบัวบาน นักวิจัย และนายสามารถ สาลี วิศวกร กลุ่มแผนงานใต้ร่มพระบารมี ได้รับมอบหมายเป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยฯ เข้าร่วมประชุมหารือกับหัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว ซึ่งในการประชุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือแนวทางในการสนับสนุนการดำเนินงาน ประเด็นปัญหาและแนวทางการบริหารจัดการน้ำ และผลผลิตอะโวคาโด ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว โดยการสนับสนุนเกื้อกูลกันบนฐานความร่วมมือของทั้ง 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (มทร.ล้านนา) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (มจ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกันสนับสนุนงานวิจัยและบริการวิชาการ ด้วยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ร่วมกันดำเนินงานและบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาในด้านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การพัฒนาเทคโนโลยีเกษตร การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมด้านสาธารณสุข การสร้างความเข้มแข็งของชุมชน การพัฒนาสังคมสู่ความยั่งยืน และงานด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง  เพื่อยกระดับสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น

    โดย มทร.ล้านนา ได้นำเสนองานวิจัยเชิงพื้นที่ ตามเป้าหมายการพัฒนาสู่ความยั่งยืน (SDGs) โดยการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการภายใต้การสนับสนุนของกลุ่มแผนงานใต้ร่มพระบารมีในพื้นที่โครงการหลวง ด้วยกลุ่มโครงการการสร้างความเข้มแข็ง และการบริหารจัดการที่ดีสำหรับกลุ่มเกษตรกรการแปรรูป สืบเนื่องจากประเด็นปัญหาเรื่องผลผลิตอะโวคาโดตกเกรดในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียวมีจำนวนมาก อีกทั้งชุมชนในพื้นที่ยังขาดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการแปลง การแปรรูปผลผลิตอะโวคาโด และขาดการขับเคลื่อนการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วม ดังนั้นการดำเนินโครงการในปี 2567 จึงมุ่งเน้นการยกระดับห่วงโซ่คุณค่าของผลิตผลอะโวคาโดสู่สินค้ามูลค่าสูงเชิงพาณิชย์ โดยพัฒนากระบวนการผลิตอะโวคาโด (Life Cycle Assessment) ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำถึงปลายน้ำ ได้แก่ 1)การเพาะปลูก  2)การจัดการดูแลรักษา 3)การเก็บเกี่ยวผลผลิตและการขนส่ง  4)การส่งเสริมการขาย/การตลาดและการจัดจำหน่าย และ5)การแปรรูป/เพิ่มมูลค่าผลผลิต โดยมี อาจารย์ศศิพัชร์ สันกลกิจ และอาจารย์แสงดาว แก้วสว่าง ทีมวิจัยจากคณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ ร่วมดำเนินโครงการ เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและนำองค์ความรู้สนับสนุนกระบวนการพัฒนา ร่วมกับเทคโนโลยี/นวัตกรรมที่เหมาะสม ได้แก่ 1)ประเมินและจัดทำฐานข้อมูลศักยภาพกลุ่มและวิเคราะห์ทรัพยากร  2)วิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต  3)การถ่ายทอดองค์ความรู้ กระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ หลักเกณฑ์ ด้านมาตรฐานและวิธีการที่ดีในการผลิต  4)สร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบและสินค้าพร้อมจำหน่าย ด้วยการสร้างแบรด์สินค้า การยื่นขอมาตรฐาน และจัดทำแผนธุรกิจ และ5)พัฒนาระบบบริหารจัดการกลุ่มอาชีพสู่ผู้ประกอบการ ซึ่งในขั้นตอนของการดำเนินกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารจากอะโวคาโด ได้รับความร่วมมือจากอาจารย์วรรณวิมล  พุ่มโพธิ์ และรองศาสตราจารย์ อัจฉรา ดลวิทยาคุณ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มทร.ล้านนา ตาก เป็นทีมวิจัยที่ดำเนินโครงการสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้านการแปรรูปผ่านกระบวนการผลิต ไอศกรีมอะโวคาโด เพื่อเป็นกิจกรรมเริ่มต้นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่สามารถรองรับผลผลิตตกเกรด พร้อมนี้ได้จัดทำต้นแบบบรรจุภัณฑ์และฉลากโภชนาการเพื่อการทดลองจัดจำหน่าย ในพื้นที่ ทั้งนี้ ในปี 2567 มทร.ล้านนา ได้นำองค์ความรู้ และผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ดำเนินโครงการภายใต้ความร่วมกับภาคีเครือข่าย 4 มหาวิทยาลัย ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว สำนักงานเกษตรอำเภอเชียงดาว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยขับเคลื่อนภายใต้ SDGs เป้าหมายที่ 2 การเพิ่มผลิตภาพทางการเกษตรและรายได้ของผู้ผลิตอาหารรายเล็ก และเกษตรแบบครอบครัว โดยการนำเข้าปัจจัยในการผลิต และโอกาสสำหรับการเพิ่มมูลค่า ด้วยกลไกการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน และองค์ความรู้ในการรวมกลุ่มเกษตร และจัดตั้งกลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ เพื่อยกระดับโภชนาการและส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ภายใต้ชื่อ วิสาหกิจชุมชน “คะฉิ่น สุดใจ”







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

Facebook Messenger icon