โลโก้เว็บไซต์ มทร.ล้านนา ร่วมน้อมรำลึกวันคล้ายวันสวรรคต รัชกาลที่ 9 เนื่องในวันนวมินทรมหาราช ประจำปี 2567 | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

มทร.ล้านนา ร่วมน้อมรำลึกวันคล้ายวันสวรรคต รัชกาลที่ 9 เนื่องในวันนวมินทรมหาราช ประจำปี 2567

เผยแพร่เมื่อ : อาทิตย์ 13 ตุลาคม 2567 โดย วิทยา กวีวิทยาภรณ์ จำนวนผู้เข้าชม 1,708 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

เช้าวันนี้ (13 ต.ค. 67) เวลา 07.30 น. ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ รศ.ดร.ประชา ยืนยงกุล ผู้ช่วยอธิการบดี พร้อมด้วย นางสาวอัครณี วงศ์ไชยะ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองพัฒนาอาคารสถานที่ และบุคลากรในสังกัดร่วมน้อมรำลึกวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี เนื่องใน “วันนวมินทรมหาราช” ประจำปี 2567

ในพิธีดังกล่าว นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้เป็นประธานประกอบพิธีสวดเจริญพระพุทธมนต์ และทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล โดยมีพระเทพปริยัติ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 7 เจ้าอาวาสวัดเจ็ดยอด พระอารามหลวง นำพระสงฆ์และสามเณรจำนวน 89 รูป ออกรับบิณฑบาตจากประชาชน จากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่และหน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมวางพวงมาลาถวายราชสักการะ กล่าวถวายราชสดุดี และยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 89 วินาที เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่าได้น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยตลอดมา

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคม 2567 เป็นวันแห่งการเสด็จสวรรคตครบ 8 ปี หรือเรียกว่า “สัตตมวรรษ” เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กำหนดชื่อวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ ว่า “วันนวมินทรมหาราช” ซึ่งตรงกับวันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ชาว ราชมงคลเป็นล้นพ้น  กล่าวคือ  หากย้อนไปเมื่อสมัย ๓๐ ปีก่อน วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาได้ก่อตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ “วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา พุทธศักราช ๒๕๑๘” โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เมื่อวันที่ ๒๗  กุมภาพันธ์   ๒๕๑๘ มีฐานะเป็นกรมในสังกัดระทรวงศึกษาธิการ เป็นสถาบันการศึกษาและวิจัย มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตครูอาชีวศึกษาระดับปริญญาตรี ทำการวิจัยส่งเสริมการศึกษาทางด้านวิชาชีพและให้บริการทางวิชาการแก่สังคม             

           เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ  ๕  รอบและด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงเมตตาต่อวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล  โดยเสด็จฯ มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยด้วยพระองค์เองทุกครั้ง  ยังความปลื้มปิติและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ สภาวิทยาลัย ฯ เห็นสมควรขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นตราสัญลักษณ์ของวิทยาลัยฯ ตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการลงวันที่  ๑๕ กันยายน  ๒๕๓๑ ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนาม “สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล” ซึ่งหมายความว่า สถาบันเทคโนโลยีอันเป็นมิ่งมงคลแห่งพระราชา และเปลี่ยนชื่อพระราชบัญญัติวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา พุทธศักราช  ๒๕๑๘  เป็นพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล  พุทธศักราช ๒๕๑๘  และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา  ฉบับพิเศษ  วันที่  ๑๘  สิงหาคม  ๒๕๓๒  และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่  ๑๙  สิงหาคม  ๒๕๓๒  เป็นต้นมา

ราชมงคลล้านนา  ตราสัญลักษณ์

          มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้อัญเชิญตราสัญลักษณ์ของสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล มาเป็นเครื่องหมายราชการมีลักษณะเป็นตรารูปวงกลมมีดอกบัว ๘ กลีบล้อมรอบ  หมายถึงทางแห่งความสำเร็จมรรค ๘ และความสดชื่น เบิกบานที่ก่อให้เกิดปัญญาแผ่ขจรไปทั่วสารทิศ   ภายในดอกบัวเป็นดวงตราพระราชลัญจกรบรรจุอยู่ อันเป็นสัญลักษณ์และเครื่องหมายประจำองค์พระมหากษัตริย์รัชกาลที่  ๙ ซึ่งพระองค์ท่านได้พระราชทานนาม  “ ราชมงคล”  บนตรารูปวงกลมมีพระมหาพิชัยมงกุฎครอบและมีเลข ๙    บรรจุอยู่ หมายถึงรัชกาลที่ ๙   ด้านล่างของตรารูปวงกลมทำเป็นกรอบโค้งรองรับ    มีชื่อมหาวิทยาลัยบรรจุอยู่ภายในว่า “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา” คั่นปิดหัวท้ายของกรอบด้วยลวดลายดอกไม้ทิพย์ประจำยามทั้งสองข้าง   ซึ่งเป็นเครื่องหมายราชการของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล

มิ่งมหามงคลแห่งบัณฑิต

          ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่องและยาวนาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดช  ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ณ อาคารใหม่สวนอัมพรเป็นครั้งปฐมฤกษ์  ในวันที่  ๒๙ – ๓๑  กรกฎาคม  พุทธศักราช ๒๕๒๔ ยังความปลื้มปิติและความภาคภูมิใจแก่บัณฑิตและคณาจารย์อย่างหาที่สุดมิได้  ที่นักเรียนสายอาชีวศึกษาสำเร็จเป็นบัณฑิตแล้วมีโอกาสรับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งโครงการหลวงขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2512 เริ่มต้นเป็นโครงการส่วนพระองค์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชน ในระยะเริ่มต้น โครงการหลวงจึงเริ่มดำเนินงานวิจัยเพื่อทดลองการปลูกไม้ผลเมืองหนาวที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่สูงของประเทศไทยและได้ตั้งสถานีเกษตรหลวงอ่างขางเพื่อเป็นสถานีทดลองการปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่างๆ ในบริเวณหุบเขาสูงของดอยอ่างขาง ตำบลม่อนปิน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่

          “ศูนย์ความร่วมมือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเพื่อมูลนิธิโครงการหลวงและกิจกรรมวิชาการ” เกิดขึ้นภายใต้กรอบการทำงาน “วิศวกรรม พลังงานและสิ่งแวดล้อมเพื่องานเกษตรกรรม” (Engineering Energy and Environment for Agriculture : 3Es for A) เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของโครงการหลวงและมูลนิธิโครงการหลวง โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป ตั้งแต่ปี พ.ศ.2545  มูลนิธิโครงการหลวงประกอบด้วยสถานีวิจัยและศูนย์พัฒนาโครงการหลวงจำนวน 38 แห่ง ในเขตจังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยาและลำพูน ใน 20 อำเภอ 275 หมู่บ้านและประชากร 100,000 คน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ  2,000 ตารางกิโลเมตร  เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้ พัฒนาปัจจัยพื้นฐานและคุณภาพชีวิตของเกษตรกรด้านการศึกษา สังคม สาธารณสุข วิจัยพืชและปศุสัตว์เมืองหนาว และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่เกษตรกร และมีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันภายใต้"กลุ่มแผนงานใต้ร่มพระบารมี" มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา 







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

Facebook Messenger icon