เผยแพร่เมื่อ : พฤหัสบดี 7 พฤศจิกายน 2567 โดย วิทยา กวีวิทยาภรณ์ จำนวนผู้เข้าชม 120 คน
วันที่ 7 – 8 พฤศจิกายน 2567 คณาจารย์ เจ้าหน้าที่และนักศึกษาสาขาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม และสาขาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พร้อมด้วยเครือข่ายศิษย์เก่า”ก่อสร้างตีนดอย”ลงพื้นที่ อบต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เพื่อดำเนินการซ่อมแซม และรื้ถอนบ้านพักอาศัย พร้อมด้วยการซ่อมบำรุงและแก้ไขปัญหารถจักรยานยนต์ ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ภายใต้"โครงการบริการวิชาการช่วยเหลือผู้ประสบภัยภิบัติน้ำท่วม" โดยมี ดร.พรพจน์ นุเสน อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งได้รับการประสานงานและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานจาก นายดัสกร ศรีดวงแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกื๊ดช้าง
สำหรับกิจกรรมดังกล่าวได้สะท้อนถึงการขับเคลื่อนของมหาวิทยาลัยในการสร้างบัณฑิตนักปฏิบัติที่มีทักษะและความพร้อมที่จะทำงานในสาขาวิชาชีพของตนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ รองศาสตราจารย์ ดร.อุเทน คำน่าน รักษาราชการแทนอธิการบดี มทร.ล้านนา ที่มุ่งเน้นการบูรณาการการเรียนการสอนกับการบริการสังคม เพื่อสร้างบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถ และคุณธรรม สามารถตอบสนองต่อความต้องการของสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย และได้รับการบริจาคโดยศิษย์เก่าตลอดจนประชาชนทั่วไปเพื่อสมทบทุนในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ในการปฏิบัติงานในครั้งนี้
ดร.พรพจน์ นุเสน หัวหน้าโครงการได้กล่าวว่า "การลงพื้นที่ครั้งนี้ไม่เพียงแต่ช่วยฟื้นฟูชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย แต่ยังเป็นโอกาสให้ว่าที่ “วิศวกร” ได้ศึกษาได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับชุมชน และฝึกทักษะการแก้ไขปัญหาจริง ๆ ในภาคสนาม และได้ฝึกให้เป็นผู้มีจิตอาสา จากอาจารย์ทุกๆท่านได้อุทิศกำลังกาย และกำลังสติปัญญาเพื่อมาถ่ายทอดความรู้ด้านทักษะปฏิบัติงานจากสถานการณ์จริง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้บัณฑิตและเป็น วิศวกรที่มีคุณภาพและสามารถทำงานได้ทันทีเมื่อจบการศึกษา"
ด้านนายดัสกร ศรีดวงแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกื้ดช้าง ได้กล่าวถึงกิจกรรมให้ครั้งนี้ว่า "มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนามีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน และทราบถึงศักยภาพและทักษะปฏิบัติของชาวราชมงคล เพราะตัวผมเองก็จบการศึกษาจากราชมงคล ลำปางเช่นกัน ซึ่งการเข้ามาลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้เป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีและเพิ่มความมั่นคงให้กับชุมชน ผมขอขอบคุณทีมงานทุกคนที่มาร่วมกันฟื้นฟูพื้นที่ และขอให้นักศึกษาได้ปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวัง พร้อมเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในครั้งนี้ไปปรับใช้ในอนาคตต่อไป "
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา