โลโก้เว็บไซต์ สถาบันวิจัยและพัฒนา จัดประชุมวางแผนการดำเนินงานวิจัย ตาม พ.ร.บ. TRIUP ACT  ร่วมกับคณะ พื้นที่ และหน่วยงาน ภายในมหาวิทยาลัย รูปแบบไฮบริด | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

สถาบันวิจัยและพัฒนา จัดประชุมวางแผนการดำเนินงานวิจัย ตาม พ.ร.บ. TRIUP ACT ร่วมกับคณะ พื้นที่ และหน่วยงาน ภายในมหาวิทยาลัย รูปแบบไฮบริด

เผยแพร่เมื่อ : ศุกร์ 20 ธันวาคม 2567 โดย ณิชกมล โพธิ์แก้ว จำนวนผู้เข้าชม 728 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

สถาบันวิจัยและพัฒนา จัดประชุมวางแผนการดำเนินงานวิจัย ตาม พ.ร.บ. TRIUP ACT  ร่วมกับคณะ พื้นที่ และหน่วยงาน ภายในมหาวิทยาลัย 

วันที่ 20 ธันวาคม 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพร พัชรประกิติ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา เป็นประธานเปิดการประชุม วางแผนการดำเนินงานวิจัย ตาม พ.ร.บ. TRIUP ACT ร่วมกับคณะ พื้นที่ และหน่วยงาน ภายในมหาวิทยาลัย รูปแบบไฮบริด ร่วมกับ ผู้บริหารและบุคลากร คณะ พื้นที่ และสำนักงานบริหารทรัพย์สินและสิทธิประโยชน์ มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินงานวิจัย ตาม พรบ. TRIUP ACT โดยเน้นย้ำกลุ่มนักวิจัยที่ได้รับทุนภายนอก (9 PMU) ให้ดำเนินการจัดทำเอกสารและดำเนินการตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2564 ณ ห้องประชุมราชรัตน์ คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ ชั้น 2  มทร.ล้านนา


สรุปสาระสำคัญ พ.ร.บ. TRIUP ACT

  • พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 เป็นกฎหมายที่สนับสนุนให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยที่ได้รับทุนจากหน่วยงานของรัฐได้

  • ซึ่งมุ่งส่งเสริมให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมของรัฐไปใช้ประโยชน์มากขึ้น รวมทั้งสร้างแรงจูงใจให้สถาบันวิจัยและนักวิจัยที่ผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการส่งเสริมและสนับสนุนเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยมีกลไกในการบริหารจัดการและติดตามการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2565


ข้อค้นพบใหม่ คืออะไร ?

ข้อค้นพบหรือผลที่เกิดขึ้นจากการวิจัยหรือสร้างนวัตกรรม โดยการค้นคว้า การทดลอง การสำรวจหรือการศึกษา รวมถึงองค์ความรู้ การประดิษฐ์ กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ กระบวนการบริการ หรือการจัดการในรูปแบบใหม่ซึ่งเป็นข้อค้นพบใหม่หรือพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญและนำไปใช้ประโยชน์ได้


การรายงานข้อค้นพบใหม่

โครงการวิจัยที่เป็นไปตาม พ.ร.บ. TRIUP ACT เมื่อพบข้อค้นพบใหม่จะต้องรายงานข้อค้นพบใหม่ รวมถึงจัดทำแผนการใช้ประโยชน์ในระบบ เพื่อขอสิทธิความเป็นเจ้าของจากแหล่งทุนก่อน จึงจะสามารถดำเนินการยื่นขอรับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาได้


การเขียนแผนการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม

แผนการใช้ประโยชน์ แบ่งออกเป็น 4 ด้าน

  1. การใช้ประโยชน์ในเชิงวิชาการ คือ การนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ในการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง หรือวิจัยเพื่อพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์หรือต่อยอดผลงานนั้น

  2. การใช้ประโยชน์ในเชิงสาธารณะ คือ การใช้หรืออนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานวิจัยและนวัตกรรมในการผลิตผลิตภัณฑ์ การจัดทำบริการ การปรับปรุงกรรมวิธีการผลิต การจัดโครงสร้างองค์กร การบริการจัดการ หรือการดำเนินการอื่นใดในเชิงสาธารณะ

  3. การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ คือ การใช้หรืออนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานวิจัยและนวัตกรรมในการผลิตผลิตภัณฑ์ การจัดทำบริการ การปรับปรุงกรรมวิธีการผลิต การจัดโครงสร้างองค์กร การบริหารจัดการ หรือการดำเนินการอื่นใดในเชิงพาณิชย์

  4. การใช้ประโยชน์ในเชิงจำหน่าย จ่าย โอน คือ การจำหน่าย จ่าย โอน ผลงานวิจัยและนวัตกรรม โดยมีประโยชน์ตอบแทนที่คำนวณเป็นเงินได้ด้วย

โดยนักวิจัยจะต้องระบุแผนที่จะดำเนินการรายปี เป็นระยะเวลา 3 ปี


โครงการวิจัยใดต้องยื่นขอเปิดเผยผลงานวิจัย ?

  1. โครงการวิจัยที่ได้รับทุนตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป

  2. โครงการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากแหล่งทุน PMU หรือหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ อำนาจหรือวัตถุประสงค์ในการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม


กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการรายงานข้อค้นพบใหม่

จัดทำรายงานข้อค้นพบใหม่ทันทีที่ค้นพบสิ่งใหม่ หรือ ภายใน 90 วัน หลังสิ้นสุดโครงการ โดยจะต้องรายงานก่อนยื่นขอรับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา


สามารถดำเนินการรายงานข้อค้นพบใหม่เพื่อขอสิทธิความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมได้ที่เว็บไซต์ https://triup.tsri.or.th/site/login


RMUTL Sustainable Development Goals (SDGs) เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

  • SDGs 9 Industry, Innovation and Infastructure : เป้าหมายที่ 9 สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม ที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม
  • SDGs 17 Partnership for the Goals : เป้าหมายที่ 17 เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน






ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

Facebook Messenger icon