เผยแพร่เมื่อ : พุธ 28 พฤษภาคม 2568 โดย วรรธนพงศ์ เทียนนิมิต จำนวนผู้เข้าชม 117 คน
วันที่ 28 พฤษภาคม 2568 บุคลากรและเจ้าหน้าที่จากสถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน กองพัฒนาอาคารสถานที่ ร่วมกับกลุ่มแผนงานใต้ร่มพระบารมีฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เข้าร่วมประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตพืชบนพื้นที่สูง เพื่อผลิตสินค้าภายใต้มาตรฐานอาหารปลอดภัย ประจำปี 2568 ณ ห้องประชุม ชั้น 2 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ โดยได้รับเกียรติจากนายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในการประชุม มีประเด็นและเป้าหมายในการหารือเรื่องการพัฒนาและยกระดับการผลิตกาแฟบนพื้นที่สูงเพื่อให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานอาหารปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการส่งเสริมการผลิตกาแฟอาราบิกา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
มทร.ล้านนา ดำเนินงานในการสนับสนุนด้านวิชาการ ในการออกแบบอาคาร เครื่องจักร และระบบบำบัดน้ำเสียสำหรับกระบวนการแปรรูปกาแฟของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ โดยดำเนินงานมีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ได้แก่ เป้าหมายที่ 2 “ขจัดความหิวโหย” ผ่านการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ เป้าหมายที่ 12 “การบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน” โดยเน้นกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยและมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
และเป้าหมายที่ 15 “การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบกอย่างยั่งยืน” ด้วยการส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับชุมชน โดยมีการดำเนินงาน ดังนี้
1) การจัดทำแบบโรงงานแปรรูปกาแฟและการเคลื่อนย้ายเครื่องคัดเมล็ดกาแฟและคัดสี (color sorter) พร้อมด้วยการจัดทำ line processing
ที่มีความเหมาะสมต่อกำลังการผลิตกาแฟของศูนย์ฯตีนตก
2) การวาง Master plan (การวางแผนการใช้พื้นที่ ผังไฟฟ้า ประปา พลังงาน และระบบสุขาภิบาล) ในพื้นที่ศูนย์ฯตีนตก เพื่อรองรับการขยายตัวของสถาบันเรียนรู้กาแฟในอนาคต
3) การรับโจทย์ประเมินผลทางเศรษฐศาสตร์ และความเป็นไปได้ในการออกแบบการติดตั้งระบบห้องเย็นในพื้นที่โรงตัดแต่งผักให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและเหมาะสมกับการใช้งานกับชาวบ้านและชุมชน
คณะทำงานขับเคลื่อนฯมีเป้าหมายให้ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตกเป็นต้นแบบศูนย์เรียนรู้ด้านการผลิตกาแฟอาราบิกาแบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้ประชาชนและชุมชนโดยรอบสามารถเข้ามาเรียนรู้ ต่อยอดอาชีพการปลูกและแปรรูปกาแฟ สร้างรายได้อย่างยั่งยืน พร้อมส่งเสริมระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา