โลโก้เว็บไซต์ กลุ่มแผนงานใต้ร่มพระบารมี ขับเคลื่อนจัดกิจกรรมลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการ  ภายใต้การสนับสนุนของกลุ่มแผนงานใต้ร่มพระบารมี ประจำปี2568 ณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สาใหม่ และสถานีเกษตรหลวงปางดะ | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

กลุ่มแผนงานใต้ร่มพระบารมี ขับเคลื่อนจัดกิจกรรมลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการ ภายใต้การสนับสนุนของกลุ่มแผนงานใต้ร่มพระบารมี ประจำปี2568 ณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สาใหม่ และสถานีเกษตรหลวงปางดะ

เผยแพร่เมื่อ : อังคาร 8 กรกฎาคม 2568 โดย วรรธนพงศ์ เทียนนิมิต จำนวนผู้เข้าชม 85 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

     วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 คณะทำงานกลุ่มแผนงานใต้ร่มพระบารมี ร่วมกับบุคลากร สถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน และกองประชาสัมพันธ์ ร่วมขับเคลื่อนจัดกิจกรรมลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการ ภายใต้การสนับสนุนของกลุ่มแผนงานใต้ร่มพระบารมี ณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สาใหม่ ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ในโอกาสนี้ได้เข้าร่วมประชุม แลกเปลี่ยนประเด็นและข้อมูลการขับเคลื่อนการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สาใหม่ ร่วมกับนายพิชิต วันชัย หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สาใหม่ และเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ โดยมีประเด็นแลกเปลี่ยนแนวทางกระบวนการดำเนินงาน และวินิจฉัยโจทย์ปัญหา ร่วมกับหัวหน้าโครงการ เพื่อหารือแนวทางการพัฒนางาน ขับเคลื่อนและสนับสนุนการขยายผลเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและมีความเหมาะสม คณะทำงานได้ร่วมกันขับเคลื่อนการประชุมรับทราบปัญหา บันทึก จัดเก็บข้อมูลความก้าวหน้าและถ่ายทำวีดิทัศน์ เพื่อจัดทำฐานข้อมูล เผยแพร่ สร้างการรับรู้ การดำเนินงานวิจัยและงานบริการวิชาการที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ควบคู่กับการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ โดยการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานภายในและภายนอก เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

กิจกรรมประกอบด้วย

1)สร้างกลไกการติดตามความก้าวหน้า และประเมินผล เพื่อยกระดับผลการดำเนินงานโครงการ

2)ส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดงานวิจัย และงานบริการวิชาการที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาในพื้นที่

3)เกิดการพัฒนาโครงการและบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภายใน และภายนอก

4)สนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานของบุคลากร อาจารย์ นักวิจัย ในการทำงานร่วมกับชุมชนและเชิงพื้นที่

     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ญาณิศา โกมลสิริโชค อาจารย์คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ หัวหน้าโครงการพัฒนานวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรธรรมชาติสู่ผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายเชิงวัฒนธรรม นำคณะทำงานเยี่ยมชมผลการดำเนินโครงการ ณ กลุ่มดาวม่าง งานผ้าใยกัญชง ภายในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สาใหม่ โดยได้จัดกิจกรรมประชุมคณะทำงานร่วมกับ นางธัญพร ภนอมวรกุล ประธานวิสาหกิจชุมชนดาวม่าง งานผ้าใยกัญชง ร่วมกับสมาชิกกลุ่ม เพื่อสร้างความเข้าใจแนวทางการดำเนินงานโครงการ และการบริหารจัดการกลุ่ม โจทย์ปัญหาของกลุ่ม ผลิตภัณฑ์ขาดเอกลักษณ์ที่สะท้อนวัฒนธรรมท้องถิ่นในเชิงลึก และยังขาดกลยุทธ์การตลาดและการสร้างแบรนด์ที่เข้มแข็ง ทำให้ผลิตภัณฑ์ยังไม่สามารถเจาะตลาดในวงกว้างได้ โดยคณาจารย์และบุคลากร ได้คิดวิเคราะห์ปัญหาจึงนำองค์ความรู้เกี่ยวกับพืชที่ให้สีตามธรรมชาติที่อยู่ในป่าชุมชน และพัฒนากระบวนการออกแบบและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเส้นใยกัญชงย้อมสีธรรมชาติเป็นสินค้าเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายตามเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วยแนวคิดศิลปะเชิงสร้างสรรค์ เพื่อให้ได้สีที่คงทนและสอดคล้องตรงตามความต้องการของตลาดด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มีความสอดคล้องกับเป้าหมายพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals:SDGs) เป้าหมายที่ 8: การส่งเสริมอุตสาหกรรมสิ่งทอและงานหัตถกรรมจากเส้นใยกัญชงย้อมสีธรรมชาติสร้างโอกาสในการจ้างงานในชุมชน โดยการดำเนินงานโครงการช่วยส่งเสริมทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุมค่าและยั่งยืน และสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนผ่านการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและงานหัตถกรรมที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเครือข่ายภาคี สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว เชื่อมโยงกับแนวคิดของโครงการหลวง ซึ่งให้ความสำคัญในการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงอย่างสมดุล ด้วยการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมอาชีพ และสร้างโอกาสและรายได้แก่ชุมชนท้องถิ่น

     จากนั้นคณะทำงานได้เดินทางไปยังสถานีเกษตรหลวงปางดะ ตำบลสเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่โดยมีอาจารย์มนตรี แก้วอยู่ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะทำงาน โครงการพัฒนาเครื่องตัดแต่งหัว-ท้ายฝักข้าวโพดสองสี เพื่อให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพ ในพื้นที่สถานีเกษตรหลวงปางดะ นำคณะทำงานเข้าร่วมประชุมร่วมกับว่าที่ร้อยตรีณัฐทวี มาบางครุ หัวหน้าสถานีเกษตรหลวงปางดะ และเจ้าหน้าที่ วินิจฉัยโจทย์ปัญหา ร่วมกับหัวหน้าโครงการ เพื่อหารือแนวทางการพัฒนางาน ขับเคลื่อนและสนับสนุนการขยายผลเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและมีความเหมาะสม ได้แก่ เทคโนโลยี เครื่องมือ เครื่องจักรที่ใช้ในการเพาะปลูก บริหารจัดการ เก็บเกี่ยว และแปรรูป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และควบคุมคุณภาพผลผลิตของเกษตรในพื้นที่ และขับเคลื่อนการพัฒนางานด้านวิศวกรรมในพื้นที่โครงการหลวง จากโจทย์ปัญหาสถานีฯ มุ่งเน้นการผลิตข้าวโพดสองสีของโครงการหลวง เป็นพืชที่สร้างรายได้แก่เกษตรกรชาวไทยภูเขา ซึ่งมีผลผลิตที่มีคุณภาพดี ปริมาณผลผลิต 12-15 ตัน ต่อสัปดาห์ โดยทางสถานีฯเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ มีอัตราการผลิตมีปริมาณมากต่อวัน แต่ใช้กระบวนการแรงงาน ตั้งแต่กระบวนการรับผลิตผล ตัดแต่ง ทำความสะอาด บรรจุลงถุง ในกระบวนการผลิตเพื่อให้หัวฝักข้าวโพดสองสีมีฝักที่สวยงาม ต้องทำการตัดหัวและท้ายฝักข้าวโพด เนื่องจากใช้มีดในการหั่นหัว-ท้าย เพื่อตัดเศษที่ไม่ต้องการออก จึงทำให้เกิดความเมื่อยล้า ใช้เวลาในการตัดแต่งนาน สิ้นเปลืองค่าจ้างเนื่องจากต้องใช้แรงงานจำนวน 8 คน ต่อกระบวนการผลิต ด้วยประเด็นปัญหานี้ ทางคณาจารย์และคณะทำงานจึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาเครื่องจักรที่สามารถตัดหัว-ท้ายข้าวโพด ใช้องค์ความรู้/ศาสตร์ความรู้ด้านวิศวกรรมอุตสาหการ ในการออกแบบและทดลอง เพื่อกำลังการผลิตของเครื่อง ร่วมกับองค์ความรู้ด้านสถิติศาสตร์ ในการใช้โปรแกรมสำเร็จรูปในการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อหากำลังผลิตเฉลี่ต่อชั่วโมง เพื่อพัฒนาเครื่องตัดแต่งหัว-ท้ายฝักข้าวโพดสองสี สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการตัดแต่งข้าวโพดหวาน สามารถลดระยะเวลาในกระบวนการตัดแต่งหัว-ท้ายฝักข้าวโพดได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้ใช้งาน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  และเทคนิคการผลิต การบำรุงรักษาเครื่องจักร เกิดแนวทางบูรณาการระหว่างมหาวิทยาลัย ร่วมกับชุมชนด้วยการน้อมนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ในการดำเนินงานก่อให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในการสนับสนุนให้การปลูกพืชวัตถุดิบให้เป็นพืชเศรษฐกิจ

 

ภาพ:กองประชาสัมพันธ์ มทร.ล้านนา

ข้อมูล/เรียบเรียง:กลุ่มแผนงานใต้ร่มพระบารมี







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

Facebook Messenger icon