โลโก้เว็บไซต์ อุดมศึกษาเชียงใหม่จัดประชุมนานาชาติสู่วิจัยรับใช้สังคม | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

อุดมศึกษาเชียงใหม่จัดประชุมนานาชาติสู่วิจัยรับใช้สังคม

เผยแพร่เมื่อ : พฤหัสบดี 27 กรกฎาคม 2560 โดย วิทยา กวีวิทยาภรณ์ จำนวนผู้เข้าชม 7,214 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ล้านนา ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย จัดเวทีนำเสนอผลงานทางวิชาการ“...สู่วิจัยรับใช้สังคม ใส่ใจสิ่งแวดล้อม พัฒนาเศรษฐกิจ ด้วยนวัตกรรม” การประชุมวิชาการวิจัยและนวัตกรรมสร้างสรรค์ ครั้งที่ 4 และการประชุมสัมมนาวิชาการระดับนานาชาติ ด้านพลังงานไฟฟ้าแรงสูง พลาสมาและไมโครนาโนบับเบิล สำหรับเกษตรและการประมงขั้นสูง ครั้งที่ 2 เพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัยได้มีโอกาสแสดงศักยภาพของตนเองในการเข้าร่วมนำเสนอผลงานในระดับชาติและนานาชาติ และเผยแพร่ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และแนวคิดในการพัฒนางานวิจัยในสาขาวิชาต่างๆ ระหว่างนักศึกษา คณาจารย์ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ เกิดการพัฒนาและสามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งจะเป็นการพัฒนาผลงานทางวิชาการ และสร้างงานวิจัยใหม่ร่วมกันต่อไปในอนาคต  โดยได้รับเกียรติจาก นายกฤษณ์ ธนาวนิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธี ผศ.สนิท พิพิธสมบัติ รองอธิการบดีมทร.ล้านนา กล่าวรายงาน โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วม ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเชียงใหม่แกรนด์วิว จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 26-27 กรกฏาคม พ.ศ.2560 

รศ.ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดี มทร.ล้านนา กล่าวว่า  “การประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ จัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่4 ซึ่งในครั้งนี้มีความพิเศษโดยเป็นการนำเสนอผลงานนวัตกรรมด้านพลังงานไฟฟ้าแรงสูง พลาสมาและไมโครนาโนบับเบิล สำหรับเกษตรและการประมงขั้นสูง ที่ทาง มทร.ล้านนา ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศญี่ปุ่นในการร่วมกันศึกษาวิจัยเทคโนโลยีไมโคร  นาโนบับเบิลโดยดำเนินการ ณ ศูนย์ Plasmas & Micro/Nano Bubbles to Agriculture and Aquaculture มทร.ล้านนา ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมที่สามารถถ่ายทอดลงไปสู่ภาคการเกษตรและถูกนำไปใช้เพื่อการผลิตทางการเกษตร ในโอกาสนี้ มทร.ล้านนา จะได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับมหาวิทยาลัยอิวาเตะ ประเทศญี่ปุ่น ในการพัฒนางานวิจัยด้านพลังงานไฟฟ้าแรงสูง พลาสมาและไมโครนาโนบับเบิลด้วย

การจัดงานในครั้งนี้จึงถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่นักวิจัย กลุ่มภาคธุรกิจ ภาคเอกชน จะได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนานวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์โดยเฉพาะด้านการเกษตร เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนพัฒนางานวิจัยสู่การพัฒนาเป็นงานนวัตกรรมในยุค Thailand 4.0 และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการต่อยอดงานวิจัยและสามารถนำไปใช้ถ่ายทอดลงสู่สังคม ชุมชนได้ จึงอยากขอเชิญชวน ผู้สนใจ กลุ่มสถานประกอบการ กลุ่มนักวิจัยรุ่นใหม่ เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความทันสมัยของเทคโนโลยี”  

กิจกรรมภายในงานมีการบรรยายพิเศษ หัวข้อ“Research for National Development , Social Engagement and Enterprise for Thailand 4.0”   โดยศ.นพ.สิริฤกษ์  ทรงศิวิไล  เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และการบรรยายหัวข้อ “Innovation of Micro/Nano Bubble for Social Engagement Environment and Enterprise”โดย ดร.มาซาโยชิ ทาคาฮาชิ จาก National Institute of Advanced Industrial Science and Technology (AIST) ประเทศญี่ปุ่น และผู้ทรงคุณวุฒิจากประเทศญี่ปุ่น การนำเสนอผลงานทางวิชาการ ภาคโปสเตอร์ ภาคบรรยาย การจัดแสดงผลงานนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ การสัมมนา เรื่องอนาคตอาชีวศึกษาไทยในยุคประเทศไทย4.0 และกิจกรรมการถ่ายทอดผลงานวิจัย “...สู่วิจัยรับใช้สังคม ใส่ใจสิ่งแวดล้อม พัฒนาเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม” กว่า 130ผลงาน ซึ่งได้รับความสนใจจากบุคคลทั่วไป ผู้ประกอบการ นักวิชาการ และพี่น้องสื่อมวลชนเป็นจำนวนมาก (ภาพ/ข้อมูล : อ.อัคค์สัจจา ดวงสุภาสิญจ์)







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

Facebook Messenger icon