โลโก้เว็บไซต์ ติดตามผลการดำเนินงานโครงการยกระดับฯ 2561 หมู่บ้านห้วยหาด | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

ติดตามผลการดำเนินงานโครงการยกระดับฯ 2561 หมู่บ้านห้วยหาด

เผยแพร่เมื่อ : พฤหัสบดี 5 กรกฎาคม 2561 โดย นางสาวหนึ่งฤทัย แสงใส จำนวนผู้เข้าชม 2,306 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

วันที่ 5 กรกฎาคม 2561  สถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้จัดโครงการติดตามผลการดำเนินงานโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตของหมู่บ้านชุมชนและภาคอุตสาหกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 โอกาสนี้ ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ ดร.อรุณี ยศบุตร และบุคลากรสถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน อาจารย์อริยะ  แสนทวีสุข  หัวหน้าโครงการ และคณะกรรมการดำเนินโครงการฯ ร่วมตรวจเยี่ยมพื้นที่ดำเนินงานของโครงการ

               มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน  กำหนดพื้นที่ดำเนินโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตของหมู่บ้าน ชุมชน แบบมีส่วนร่วม กรณีหมู่บ้านห้วยหาด หมู่ที่ 7 ตำบลอวน อำเภอปัว จังหวัดน่าน  ซึ่งได้ดำเนินงานเป็นปีที่ 2  ชุมชนบ้านห้วยหาดเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เชิงเขาของยอดดอยภูคา ลักษณะพื้นที่ 90% เป็นภูเขาและเชิงเขา สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 1,500 เมตร เดิมเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์โดยเป็นฐานที่ตั้งของผู้ก่อการร้ายพรรคคอมมิวนิสต์ (ผกค.) ต่อมา ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดน่าน (กอ.รมน.) ร่วมกับกองพลทหารม้าส่วนหน้าได้มีนโยบายเปิดหมู่บ้านสองข้างทางยุทธศาสตร์โดยได้นำราษฎรบางส่วนอพยพขึ้นมาตั้งหมู่บ้านตามแผนยุทธศาสตร์เป็นหมู่บ้านไทยอาสาป้องกันชาติ(ทสปช) เริ่มแรกหมู่บ้านสร้างที่อยู่อาศัยแบบชั่วคราว ต่อมาปี 2526 ทางการเปิดยุทธการปราบปรามผู้ก่อการร้ายมาร่วมพัฒนาทำให้ผู้ก่อการร้ายลดลง ชาวบ้านได้หาของป่าและสร้างที่อยู่อาศัยที่ถาวรมากขึ้น กรมป่าไม้ได้สร้างสำนักงานอุทยานแห่งชาติและมีหน่วยงานอื่นมาให้ความรู้ให้กับชาวบ้าน จึงเกิดสำนึกรักป่า หวงแหนสิ่งแวดล้อม ซึ่งชาวบ้านร่วมกันร่างกฎ ระเบียบ กติกาของหมู่บ้าน เนื่องจากในอดีตมีการสัมปทานป่าไม้ มีการตัดต้นไม้เป็นจำนวนมาก ทำให้ป่าขาดความอุดมสมบูรณ์ ความต้องการของชุมชนบ้านห้วยหาดมีความมุ่งมั่นในการหาอาชีพทางเลือก เพื่อสร้างรายได้ทดแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว หาช่องทางการพัฒนาอาชีพที่สามารถให้คนอยู่คู่กับป่าต้นน้ำ ร่วมปกปักรักษาป่าต้นน้ำน่านให้คงอยู่สืบไป จากการติดตามผลการดำเนินงานพบว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน ติดปัญหาด้านการเบิกจ่าย เนื่องจากระบบการเบิกจ่ายภายในของพื้นที่น่าน ทำให้ทุกโครงการที่ดำเนินงานช่วงนี้ต้องหยุดชะงักลง บางกิจกรรมที่จำเป็นต้องเร่งทำผู้รับผิดชอบต้องสำรองจ่ายก่อน กำลังหาทางแก้ไข กิจกรรมที่จะต้องเร่งดำเนินการหลังจากการติดตามประเมินผลได้แก่ 1.กิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผลผลิตทางการเกษตรของชุมชนห้วยหาด 2.กิจกรรมออกแบบและสร้างเครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปชุมชน 3.กิจกรรมออกแบบและสร้างบรรจุภัณฑ์สินค้าแปรรูปหัตถกรรมของชุมชนและพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่าย 4.กิจกรรมพัฒนาศักยภาพกลุ่มชุมชนเพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งวิสาหกิชุมชนบ้านห้วยหาด 5.กิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรปลาท้องถิ่น 6.กิจกรรมการสร้างกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงกบบ้านห้วยหาด 7.กิจกรรมระบบและกลไกการดำเนินงานของโครงการ

 

เรื่อง : นางสาวหนึ่งฤทัย แสงใส

ภาพ : นายจักรรินทร์ ชื่นสมบัติ







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

Facebook Messenger icon