เผยแพร่เมื่อ : เสาร์ 7 กรกฎาคม 2561 โดย นายนิพนธ์ เขื่อนแก้ว จำนวนผู้เข้าชม 3,900 คน
วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม 2561
นักศึกษาหลักสูตรเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เข้าร่วมแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 11 : RDC2018 รอบชิงชนะเลิศระดับประเทศ
โดย นักศึกษา นายภูษิต อัมพร สว่าง นักศึกษาหลักสูตรเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ เมคคาทรอกนิกส์โมดูล ชั้นปีที่ 3 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ( ทีม Grey )
และ นักศึกษา นายสิทธิศักดิ์ ตนเล็ก ต.วศ.เมคคาทรอนิกส์โมดูล ปี 3 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 และรางวัลออกแบบยอดเยี่ยม ( ทีม Violet )
โดยมีอาจารย์ลีรวัฒน์ สุภารัตน์ และ อาจารย์พลกฤษณ์ ทุนคำ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาและเป็นผู้ดูแลนักศึกษาในครั้งนี้
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำและบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จัดการแข่งขัน "ออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 11: RDC2018" รอบชิงชนะเลิศระดับประเทศ โดยปีนี้มีผู้ผ่านการคัดเลือกจากระดับภูมิภาคทั่วประเทศไทยจำนวน 68 คน จาก 26 สถาบัน โดยแบ่งคละสถาบันออกเป็น 16 ทีม มาร่วมแข่งขันเพื่อคัดเลือกทีมตัวแทนไปร่วมแข่งขันในระดับนานาชาติ หรือ IDC Robocon 2018 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น สิงหาคม ศกนี้ ทั้งนี้นับเป็นโอกาสดีที่เยาวชนไทยจะได้มีโอกาสร่วมแบ่งปันประสบการณ์ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบหุ่นยนต์ตามกติกาในครั้งนี้รวมทั้งช่วยส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพในการเพิ่มทักษะความสามารถในด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยปลุกกระแสให้เยาวชนไทยหันมาสนใจศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์มากยิ่งขึ้น
การแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยครั้งที่ 11 ปีนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุค " ไทยแลนด์ 4.0 " ดังนั้นการแข่งขันฯ จะอยู่ภายใต้คอนเซ็ปต์ " Robot for Smart Manufacturing : หุ่นยนต์สำหรับการผลิตอัจฉริยะ " เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาและการนำความรู้ทางด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้สามารถใช้งานได้จริงโดยมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมการผลิตเพื่อช่วยลดต้นทุนและแรงงานในการผลิต โดยผู้เข้าแข่งขันจะต้องสร้างหุ่นยนต์เพื่อช่วยงานในโรงงานอุตสาหกรรม โดยในการแข่งขันจะจำลองโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อใช้เป็นสนามในการแข่งขันครั้งนี้
สนามแข่งขันสนามที่ใช้แข่งขันจะมีพื้นที่ทั้งหมด 24 ตรม. กว้าง 6 เมตร ลึก 4 เมตร แบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คือสีแดงและสีน้ำเงิน
หุ่นยนต์ ต้องมีขนาด กว้าง x ยาว x สูง ไม่เกิน 500 x 500 x 500 มิลลิเมตร เท่านั้น
กติกาการแข่งขัน คือ ทีมผู้เข้าแข่งขันจะต้องทำการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ 2 ชนิดคือ หุ่นยนต์อัตโนมัติ (Auto Robot) และหุ่นยนต์บังคับด้วยมือ (Manual Robot) เพื่อใช้ทำภารกิจในโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า โดยหุ่นยนต์ที่สร้างขึ้นจะต้องใช้วัสดุที่จัดเตรียมไว้ให้เท่านั้น แต่ละกลุ่มและที่เตรียมไว้ในห้องปฏิบัติการที่อยู่ภายใต้กฎกติกา และหากต้องใช้วัสดุเพิ่มเติมจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการแล้วเท่านั้น โดยสามารถทำภารกิจในการแข่งขันดังนี้
1. ผู้เข้าแข่งขันนำหุ่นยนต์อัตโนมัติลำเลียงเซลล์แบตเตอรี่ 1 อัน ไปส่งให้หุ่นยนต์บังคับด้วยมือ โดยหุ่นยนต์อัตโนมัติจะต้องวิ่งตามเส้นแถบแม่เหล็ก (Magnetic Line) แบบอัตโนมัติจนกระทั่งสุดปลายทาง
2. ผู้เข้าแข่งขันนำหุ่นยนต์บังคับด้วยมือไปขนเซลล์แบตเตอรี่ที่อยู่บนชั้นวางหรือที่อยู่บนหุ่นยนต์อัตโนมัติเข้าไปส่งให้หุ่นยนต์ SCARA ที่บริเวณประกอบผ่านทางจุดส่งเซลล์แบตเตอรี่เท่านั้น
3. ผู้เข้าแข่งขันจะสามารถบังคับหุ่นยนต์อัตโนมัติให้ช่วยหุ่นยนต์บังคับด้วยมือในการลำเลียงเซลล์แบตเตอรี่ได้ก็ต่อเมื่อ
หุ่นยนต์อัตโนมัติวิ่งตามเส้นแถบแม่เหล็ก(Magnetic Line) จนถึงปลายทางแล้ว
หุ่นยนต์บังคับดัวยมือสามารถนำเซลล์แบตเตอรี่ที่อยู่บนหุ่นอัตโนมัติออกจากหุ่นยนต์อัตโนมัติมาได้
4. ผู้เข้าแข่งขันจะต้องบังคับหุ่นยนต์ทั้ง 2 ให้สามารถนำเซลล์แบตเตอรี่ที่ถูกประกอบเสร็จแล้วจาก SCARA ไปส่งยังตู้คอนเทนเนอร์
การแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยครั้งที่ 11 จากทีมผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 16 ทีม โดยจะคัดเลือกให้เหลือ 4ทีมเข้าแข่งขันในรอบรองชนะเลิศ และจำนวน2 ทีม เพื่อเข้าแข่งขันต่อไปในรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งจะแบ่งการตัดสินออกเป็น 5 รางวัล คือ รางวัลชนะเลิศรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 2 รางวัลรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 1 รางวัลและรางวัลออกแบบยอดเยี่ยม โดยทีมที่ได้
รางวัลชนะเลิศ ทีม Green
1. นางสาวศุวดี เจ๊ะเล็ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
2. นายปัณฑ์ธร ตรีวัฒนา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
3. นายจิรัฐ คงกะพันธ์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
4. วีรยุทธ บัวเพชร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตพายัพ
แนวคิด : การออกแบบและสร้างหุ่นยนต์โดยมุ่งเน้นให้หุ่นยนต์ทั้ง 2 แบบ มีเทคนิคการใช้งานและโครงสร้างที่เหมือนกันคือไม่ซับซ้อนง่ายต่อการซ่อมแซมและปรับการใช้งาน แต่มีลักษณะพิเศษตรงที่หุ่นยนต์บังคับมือจะออกแบบให้มือจับสามารถหนีบแล้วตีลังกาไปด้านหลังเพื่อวางของและตั้งได้ถูกต้องด้วยความรวดเร็ว และออกแบบให้เกียร์ช่วยทุ่นแรงควบคู่ไปกับการใช้ตัวถ่วงเพื่อช่วยให้เกียร์ทำงานน้อยลงและประหยัดเวลามากขึ้น
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ทีม Grey
1. นายภูษิต อัมพรสว่าง วิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
2. นายนฤเบศร์ ทองคำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา
3. นางสาวอิศชญาน์ ตรีเดชา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
4. นายชำนาญ วงษ์ชาลี มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ
แนวคิด : การออกแบบและการสร้างหุ่นยนต์เน้นการใช้งานที่ง่าย ไม่ซับซ้อน ใช้งานได้จริง วัสดุที่ใช้นำมาออกแบบมีน้ำหนักเบา เพื่อสะดวกต่อการเคลื่อนตัว สำหรับหุ่นยนต์บังคับมือมีการออกแบบโดยใช้หลัก Polar เพื่อให้น้ำหนักทั้งสองข้างของศูนย์ถ่วงน้ำหนักเท่ากัน ใช้เชือกแทนสายพานในการดึงให้ทั้งสองข้างสอดคล้องกัน และในส่วนของหุ่นยนต์อัตโนมัติออกแบบตามหลัก Folklift ควบคู่ไปกับหลัก Polar คู่กัน เพื่อความสมดุลในการทำงาน
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 และรางวัลออกแบบยอดเยี่ยม ทีม Violet
1. นายสิทธิศักดิ์ ตนเล็ก วิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
2. นายสิปปภาส สุขผลธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3. นายสมศักดิ์ หาญชนะ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
4. นายแสงทอง สระทองขอ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
แนวคิด: การออกแบบและการสร้างหุ่นยนต์เน้นการใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบา เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการขับเคลื่อน สร้างความพิเศษสำหรับหุ่นยนต์อัตโนมัติคือให้สามารถปรับใช้ได้ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ส่วนหุ่นยนต์บังคับมือสามารถหมุนได้ 180 องศา เพื่อช่วยให้การยกของได้ง่ายขึ้น
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ทีม Brown
1. นายศุภกิจ ติดรักษ์ วิทยาลัยเชียงราย
2. นายสรสิช วรรณจักร มหาวิทยาลัยมหิดล
3. นายเดชวีร์ เจริญยศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
4. นายศรุต สมุทรสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
แนวคิด : การออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ทั้ง 2 แบบ เน้นที่น้ำหนักเบา เพื่อการเคลื่อนตัวที่รวดเร็ว ควบคุมง่าย และสามารถหยิบจับได้อย่างแม่นยำ รวมทั้ง ประหยัดเวลาในการทำงาน จุดเด่นคือเพิ่มความพิเศษไปที่หุ่นยนต์บังคับมือที่ออกแบบให้สามารถช่วยทำงานแทนหุ่นยนต์อัตโนมัติได้ในเวลาคับขัน ส่วนหุ่นยนต์อัตโนมัติเน้นที่ความแม่นยำในการเคลื่อนที่ตามไลน์แม่เหล็ก สามารถรับน้ำหนักได้สูง และมีความคงทน
ข่าวโดย : งานประชาสัมพันธ์ วทส.
ขอบคุณเนื้อหาข่าวจาก : อาร์วายทีไนน์ https://www.ryt9.com
คลังรูปภาพ : RDC2018
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา