เผยแพร่เมื่อ : อังคาร 11 กันยายน 2561 โดย น้ำฝน สุทธิกุญชร จำนวนผู้เข้าชม 3,484 คน
ในปี พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2557 ผู้ช่วยศาสตราจารย์อมรชัย ล้อทองคำ อาจารย์ประจำสาขาสัตวศาสตร์และประมง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน ได้ทำการวิจัยและสำรวจชนิดปลาในแม่น้ำว้า จังหวัดน่าน จากการสำรวจสามารถรวบรวมตัวอย่างปลาเลียหินน้ำเทิน (Garra theunensis) ได้ โดยพบว่าปลาชนิดนี้มีการกระจายพันธุ์ในแม่น้ำว้าตั้งแต่อำเภอบ่อเกลือจนถึงอำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน และเมื่อทำการตรวจสอบข้อมูลจากเอกสารวิชาการทางด้านอนุกรมวิธานของปลาน้ำจืด พบว่าปลาชนิดนี้มีการกระจายพันธุ์อยู่ในแม่น้ำโขง แม่น้ำแดงในเวียดนาม และ ลุ่มน้ำแยงซี่ในจีน เท่านั้น ดังนั้นจึงถือว่าการพบปลาชนิดนี้ในแม่น้ำว้าเป็นการพบการกระจายพันธุ์เป็นครั้งแรกในระบบแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งรูปแบบการแพร่กระจายของปลาดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่าในอดีตนั้นแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำโขงเคยเชื่อมต่อกัน ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลที่สำคัญอย่างยิ่งในทางสัตวภูมิศาสตร์ของภูมิภาคเอเชีย ดังนั้นผู้ช่วยศาสตราจารย์อมรชัย ล้อทองคำ จึงร่วมกับ นายสหัส ราชเมืองขวาง นักวิชาการแห่งสถานีวิจัยเพื่อการพัฒนาชายฝั่งอันดามัน คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำบรรยายและเผยแพร่ความรู้ที่ได้จากการวิจัยไปสู่วงวิชาการใน “The Thailand Natural History Museum Journal” ซึ่งเป็นวารสารระดับนานาชาติของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ของประเทศไทย
สำหรับปลาเลียหินน้ำเทินนั้น ในอำเภอบ่อเกลือเรียกว่า “ปลาเพชร” ส่วนในอำเภอแม่จริมเรียกว่า “ปลาควยลาว” ปลาชนิดนี้มีขนาดใหญ่เมื่อเปรียบเทียบกับปลาในสกุลเดียวกัน อาศัยอยู่ในแม่น้ำบริเวณที่มีกระแสน้ำไหลเชี่ยว น้ำมีความใสและเย็นมาก อาศัยด้วยการเกาะติดตามก้อนหินขนาดใหญ่หรือหลบซ่อนตัวในซอกหินและไม่อยู่รวมกันเป็นฝูงแต่จะอาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน กินสาหร่ายที่เกาะติดตามก้อนหินที่มันอาศัยอยู่เป็นอาหาร ปลาชนิดนี้ชาวบ้านนิยมนำมาประกอบอาหารในรูปแบบ ลาบปลา เพราะเนื่องจากมีก้างในกล้ามเนื้อมาก นอกจากนี้ยังทำเป็นปลารมควันด้วย
สำหรับผู้ที่มีความสนใจและต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ amornchai@rmutl.ac.th หรือ โทรศัพท์หมายเลข 054710259 ต่อ 1170
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา