โลโก้เว็บไซต์ พิธีเปิดนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 80 ปี มทร.ล้านนา ตาก | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

พิธีเปิดนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 80 ปี มทร.ล้านนา ตาก

เผยแพร่เมื่อ : พฤหัสบดี 6 ธันวาคม 2561 โดย ชลาลัย กมลคุณาชัย จำนวนผู้เข้าชม 2,219 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

วันนี้ (6 ธ.ค. 61) เวลา 09.00 น. ที่อาคารเรียนรวมและสารนิเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ รศ.ศีลศิริ สง่าจิตร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เป็นประธานเปิดนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทีทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และในโอกาสฉลองครบรอบ 80 ปี โรงเรียนช่างไม้สู่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก โดยมี รศ.ธีระศักดิ์ อุรัจนานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและกิจการนักศึกษา พล.ต.พรชัย เอี่ยมสนิทอมร นายกสมาคมศิษย์เก่าราชมงคลตาก พร้อมด้วยผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา มทร.ล้านนา ตาก ร่วมพิธีอย่างพร้อมเพรียงกัน โดยอธิการบดีฯ นำผู้เข้าร่วมพิธีเทิดพระเกียรติและถวายพระพรสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และกล่าวถวายราชสดุดีเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จากนั้นจึงนำผู้ร่วมพิธีถวายบังคมพร้อมกัน 3 ครั้ง เพื่อแสดงความจงรักภักดี น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ประวัติความเป็นมาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก บันทึกโดย อาจารย์ปลั่ง สายทอง อาจารย์อาวุโสและศิษย์เก่า

“โรงเรียนช่างไม้ สู่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก”

พ.ศ. 2481 รัฐบาลได้จัดตั้งโรงเรียนประถมอาชีพช่างไม้ขึ้น ครูใหญ่คนแรกของโรงเรียน ชื่อ ถาด  คำพุฒ  เปิดเรียนเมื่อวันที่ 17  สิงหาคม  2481 มีนักเรียน 7 คน ครูฉาย  เชื้อปราง  เป็นครูน้อย สอนวิชาภาคปฏิบัติ ยังไม่มีสถานที่เรียน อาศัยสถานที่โรงเรียนตากพิทยาคมเรียนไปก่อน
จากจดหมายเหตุบันทึกว่า ครูใหญ่ ถาด  คำพุฒ  ดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนประถมอาชีพช่างไม้ ระหว่างปี พ.ศ. 2481 ถึง พ.ศ. 2484นักเรียนของท่าน 7 คน เรียนจบหรือไม่ ไม่มีในบันทึกจดหมายเหตุ

ปี พ.ศ. 2484  ได้ย้ายจากโรงเรียนตากพิทยาคมไปอยู่ที่แห่งใหม่ ติดวัดไผ่ล้อม ตำบลระแหง อำเภอเมือง จังหวัดตาก และเปลี่ยนชื่อจากโรงเรียนประถมอาชีพช่างไม้ เป็นโรงเรียนช่างไม้

จากทำเนียบศิษย์เก่าโรงเรียนช่างไม้เริ่มปี พ.ศ. 2484 ขอกล่าวถึงรุ่นและผู้ที่ผมรู้จัก ได้สนทนาด้วย

ปี พ.ศ. 2484  มีนักเรียนจำนวน 23 คน นายชด  ภู่ชำนาญ (ถึงแก่กรรม) เคยสอนอยู่สถาบันแห่งนี้ ในแผนกวิชาช่างไม้ การช่าง ช่างยนต์

ปี พ.ศ. 2485  มีนักเรียนจำนวน 8 คน ที่รู้จักมี 2 คน
1. นายสงวน  แก้วอยู่
2. นายรอด   เกิดสืบ

ปี พ.ศ. 2486  มีนักเรียนจำนวน 9 คน 
1. นายหน่าย  โพธา
2. นายผล  จาจุ๋ย
3. นายวิสูตร  วัฒนรุ่ง

ปี พ.ศ. 2487  ไม่มีบันทึกจำนวนนักเรียนที่จบการศึกษา แต่มีรายชื่อ 3 คน ผมไม่รู้จัก
1. นายอินทร์  ธรรมสอน
2. นายแรม  อิทธิวัฒนสุข
3. นายผล  เขียวสาสน์

ปี พ.ศ. 2488 ไม่มีบันทึกจำนวนนักเรียนที่จบการศึกษา มีรายชื่อที่ผมรู้จัก 3 คน คือ
1. นายประเสริฐ  อินทฉิม
2. นายเชิญ  แสนต่างใจ
3. นายจำลอง  อ่อนละมูล  

นายจำลอง  อ่อนละมูล  เคยสอนอยู่สถาบันแห่งนี้ สอนช่างไม้ การช่าง และทำหน้าที่ธุรการ การเงินของโรงเรียน และเป็นผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูตากหลายสมัย

ปี พ.ศ. 2489 ไม่มีบันทึกจำนวนนักเรียนที่เรียนจบการศึกษา มีรายชื่อที่ผมรู้จัก 1 คน คือ นายสมาน  ทิพยเกสร

ปี พ.ศ. 2490  ไม่มีบันทึกจำนวนนักเรียนที่เรียนจบการศึกษา และมีรายชื่อที่ผมรู้จัก 1 คน คือ นายบาง  นกเพชร

ปี พ.ศ. 2491  ไม่มีบันทึกจำนวนนักเรียนที่เรียนจบการศึกษา มีรายชื่อที่ผมไม่รู้จัก 2 คน 1. นายสุก  มาอ่อน  2. นายพร  คำพุฒ

ปี พ.ศ. 2492  มีบันทึกจำนวนนักเรียน  23 คน มีรายชื่อที่ผมรู้จักและเคยเป็นครูสอนอยู่สถาบันแห่งนี้ จำนวน 4 คน 
1. นายปัญญา  หอมจันทร์ สอนแผนกวิชาเคหภัณฑ์  
2. นายพะเยาว์  น้อยบุญมา (ถึงแก่กรรม) สอนแผนกวิชาเคหภัณฑ์ และสอนดนตรีไทย
3. นายสมพงษ์  อุมวนะ (ถึงแก่กรรม) สอนแผนกวิชาช่างก่อสร้าง
4. นายบรรจง  พึ่งอ่อน (ถึงแก่กรรม) สอนแผนกวิชาช่างไม้ ช่างกลโรงงาน
5. นายสุทธิศักดิ์  เดชะวงษ์ สอนแผนกวิชาช่างก่อสร้าง และทำหน้าที่ธุรการ การเงินของโรงเรียนการช่างตาก จนเกษียณอายุราชการ

ปี พ.ศ. 2494  ผมเรียนจบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนวัดมะเขือแจ้ ไปสมัครเข้าเป็นนักเรียนชั้นปีที่ 1 โรงเรียนช่างไม้วัดโพธิ์ (ชาวบ้านเรียกชื่ออย่างนี้) ผมเข้าเรียนสมัยครูวีระพล ส.สุจริตจันทร์ ท่านเป็นครูใหญ่ และมีครูท่านอื่นๆ อีก 6 ท่าน ประกอบด้วย
1. ครูจำลอง  อ่อนละมูล
2. ครูชด  ภู่ชำนาญ
3. ครูโต๊ะ  คำพุฒ  ผู้ช่วยครูใหญ่
4. ครูวีระพล  ส.สุจริตจันทร์ (ครูใหญ่)
5. ครูพิมพ์ (จำนามสกุลไม่ได้)
6. ครูอุดม  เมืองสงค์
7. ครูพยุง  น้อยบุญมา 

มีนักเรียนชั้นปีที่ 1, 2, 3 รวม 95 คน มีนักการภารโรง 3 คน คือ
1. นายเจริญ  เนื่องชากัญ
2. นายยัง  ศีลพร
3. นายเผื่อน  จันทน์เทศ

โรงเรียนช่างไม้ ปี 2495 บริเวณสถานที่ด้านหน้าโรงเรียนมีรั้วต้นพู่ระหง มีต้นสนตลอดแนวติดทางเดินและติดวัดโพธาราม  ด้านทิศเหนือติดหนองน้ำ และทางเดินเข้าวัดไผ่ล้อม ด้านหลังทิศตะวันออกติดวัดไผ่ล้อม ด้านทิศใต้ติดป่าไผ่และทางเกวียน รั้วอีก 3 ด้านเป็นรั้วลวดหนามโดยรอบ ภายในบริเวณมีอาคารไม้สองชั้น 1 หลัง ชั้นบนเป็นหอพักนักเรียนประจำ นักเรียนประจำส่วนมากมาจากต่างอำเภอรอบๆ จังหวัดตาก ชั้นล่างของอาคารเป็นห้องทำงานครูใหญ่ ห้องทำงานครู และเป็นห้องเรียนอีกหนึ่งห้อง มีโรงฝึกงานถาวร 3 หลัง โรงฝึกงานชั่วคราวมุงหญ้าคา 1 หลัง มีสนามหน้าโรงฝึกงาน มีเสาธง สี่มุมของโรงเรียน มีบ้านพักครู ด้านหลังโรงฝึกงานต่อจากบ้านพักครู เป็นบ้านพักภารโรง โรงครัว โรงอาหาร โรงเครื่องปั่นไฟ เพื่อใช้ไฟแสงสว่างและสูบน้ำขึ้นแทงก์บนหอสูงสำหรับเก็บน้ำ

ผมเรียนชั้นปีที่ 2 พอมีความรู้ทางช่างมีฝีมือ เริ่มรับจ้างทำกระถางกล้วยไม้ ทำสะดึง ทำตู้ โต๊ะ เตียงนอน มีรายได้แล้ว โดยใช้เวลากลางคืน มีตะเกียงเจ้าพายุให้แสงสว่าง

ปี พ.ศ. 2497  ผมเรียนจบการศึกษาอาชีวศึกษาตอนปลาย ผมได้รับทุนการศึกษา ได้ไปเรียนต่อโรงเรียนฝึกหัดครูอาชีวศึกษา กรุงเทพฯ รุ่นผมมีทุนการศึกษาจังหวัดละ 1 คน เป็นนักเรียนประจำ มีหอพัก มีระเบียบวินัย ข้อบังคับ มากพอสมควร มีอาหารเลี้ยงเช้า-เย็น

การเดินทางจากจังหวัดตากไปกรุงเทพฯ สมัยนั้น โดยทางรถยนต์ไปต่อรถไฟที่สถานีหนองปลิง จังหวัดนครสวรรค์ ไปกรุงเทพฯ ทางรถยนต์ที่จังหวัดตาก ก่อนออกเดินทางต้องไปจองที่นั่ง การจองต้องระบุชื่อผู้จอง บ้านอยู่ตรงไหน ถนนตรอกซอย ต้องบอกให้ชัดเจน ถึงเวลาตี 3 รถยนต์จะไปปลุกเรียกให้เตรียมตัว ถึงเวลาตี 4 รถจะมารับออกเดินทางไปจังหวัดนครสวรรค์ ถนนเป็นลูกรัง สลับหลุม บ่อ ใช้เวลาเดินทางเกือบ 8ชั่วโมง ถึงสถานีหนองปลิง จังหวัดนครสวรรค์ ผู้โดยสารทุกคนจะแปลงสัญชาติเป็นฝรั่งกันหมด หน้าตาทุกคนรองพื้นด้วยฝุ่นสีแดง ผมแดง เสื้อผ้าเปลี่ยนสีหมด พอขึ้นรถไฟ โชคดีได้ที่นั่งก็สบายไป หากไม่มีที่นั่งต้องโหน จับนั่งระหว่างหัวต่อตู้รถไฟ

ที่โรงเรียนฝึกหัดครูอาชีวศึกษา ผมได้รู้จักนักเรียนฝึกหัดครูรุ่นพี่ชั้นปีที่ 3  ชื่อ ปัญญา  ยาวิราช  สนิทคุ้นเคยฐานะรุ่นพี่ รุ่นน้องและเป็นคนภาคเหนือด้วยกัน

ปีการศึกษา 2500  ผมเรียนจบประโยคครูประถมอาชีวศึกษา เทเวศร์ กรุงเทพฯ ได้รับการบรรจุเป็นครูประจำกรม เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2501 และได้รับการบรรจุเป็นครูประจำการ ณ โรงเรียนการช่างตาก เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2501 

กรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดทำแผนผังแม่บท วันที่ 2 มิถุนายน 2501 จึงได้ย้ายจากสถานที่เดิม ออกมาตั้งอยู่ที่ตั้งปัจจุบัน

แผนภูมิการศึกษา ประโยคมัธยมศึกษาตอนต้นสายอาชีพ    
แผนกช่างไม้และก่อสร้าง แยกเป็น
1. ช่างไม้ปลูกสร้าง
2. ช่างไม้ครุภัณฑ์
3. ช่างปูน
4. ช่างสี

แผนภูมิการศึกษา ประโยคมัธยมศึกษาตอนปลายสายอาชีพ 
แผนกวิชาช่างก่อสร้าง แยกเป็น
1. ช่างไม้ปลูกสร้าง
2. ช่างไม้ครุภัณฑ์
3. ช่างปูน
4. ช่างสุขภัณฑ์

แผนภูมิการศึกษา ประโยคมัธยมศึกษาตอนปลายสายอาชีพ
ช่างอุตสาหกรรม 5 แผนก
1. แผนกวิชาช่างกลโรงงาน
2. แผนกวิชาช่างยนต์
3. แผนกวิชาช่างเชื่อมและโลหะแผ่น
4. แผนกวิชาช่างไฟฟ้าวิทยุ
5. แผนกวิชาช่างวิทยุ

ปีการศึกษา 2503 โรงเรียนการช่างตาก ได้รับความนิยม ผู้ปกครองส่งบุตรหลานมาเรียนมากขึ้น ได้รับการส่งเสริม สนับสนุนให้ขยายการศึกษาให้สูงขึ้น เพื่อเตรียมเปิดสอนแผนกวิชาช่างอุตสาหกรรม โดยได้รับความช่วยเหลือจากโครงการ ส.ป.อ. (สนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียอาคเนย์) ได้รับงบประมาณดำเนินการก่อสร้างอาคารโรงฝึกงาน จำนวน 5 หลัง คือ
1. โรงฝึกงานแผนกวิชาช่างก่อสร้าง
2. โรงฝึกงานแผนกวิชาช่างกลโรงงาน
3. โรงฝึกงานแผนกวิชาช่างยนต์
4. โรงฝึกงานแผนกวิชาช่างเชื่อมและโลหะแผ่น
5. โรงฝึกงานแผนกวิชาช่างไฟฟ้า

ได้รับงบประมาณจัดสรรเครื่องจักร เครื่องมือช่าง และให้จัดส่งครูไปรับการอบรม ฝึกการใช้เครื่องจักรเครื่องมือ ตามสาขาวิชาที่จะเปิดสอนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยศูนย์ฝึกอบรมครูช่างตามความช่วยเหลือของโครงการ ส.ป.อ. ในประเทศไทยตั้งอยู่ติดวัดเทพนารี บางพลัด กรุงเทพฯ

ท่านอาจารย์วีระพล ส.สุจริตจันทร์ พร้อมด้วยคณะครูเห็นว่าสถานที่เดิมนั้น เป็นที่ดินของวัดและคับแคบ ได้ลงความเห็นว่าควรจะใช้พื้นที่โรงเรียนเกษตรกรรม ที่ล้มเลิกกิจการไปนานแล้ว  มีเนื้อที่มากกว่า 200 ไร่ เป็นสถานที่ตั้งโรงเรียนการช่างแห่งใหม่ อยู่ติดถนนพหลโยธิน ตำบลไม้งาม อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก

ท่านอาจารย์วีระพล ส.สุจริตจันทร์ ท่านเป็นอาจารย์ใหญ่ เป็นผู้นำทีมโดยมีคณะครู จำนวน 10 กว่าท่าน มีนักเรียน 300-400 คน ภารโรง 4-5 คน ร่วมกันพัฒนาจากป่าที่รกทึบเต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ เริ่มจากการสำรวจแนวเขตพื้นที่ วางผัง ก่อสร้างอาคารถาวร

ปีการศึกษา 2503  โรงเรียนการช่างตากมีอาคารไม้สองชั้น 2 หลัง องค์พระวิษณุกรรม ประดิษฐานบริเวณหน้าอาคาร 1 ใกล้เสาธง

ปีการศึกษา 2504  โรงเรียนการช่างตากได้เปิดสอนแผนกวิชาช่างอุตสาหกรรม ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 5 แผนกวิชา คือ แผนกวิชาช่างก่อสร้าง, ช่างกลโรงงาน, ช่างยนต์, ช่างเชื่อมและโลหะแผ่น และช่างไฟฟ้า โดยท่านอธิบดีกรมอาชีวศึกษา ศาสตราจารย์พงษ์ศักดิ์  วรสุนทโรสถ เป็นประธานเปิดอาคารเรียนและโรงฝึกงาน

ปีการศึกษา 2505 ได้เปิดสอนแผนกวิชาช่างวิทยุและโทรคมนาคม เพิ่มอีกแผนกหนึ่ง

ปีการศึกษา 2506  ผมลาราชการไปศึกษาต่อเป็นเวลา 2 ปี ปีการศึกษา 2508 ผมเรียนจบประโยคครูมัธยมอาชีวศึกษา เทเวศร์ กรุงเทพฯ กลับมาสอนโรงเรียนการช่างตาก แผนกช่างกลโรงงาน ทางแผนกช่างกลโรงงาน มอบหมายให้ผมสอนความรู้พื้นฐานทางช่างให้แก่นักเรียนช่างอุตสาหกรรมชั้นปีที่ 1 รวม 5 แผนกวิชา คือ ช่างกลโรงงาน , ช่างยนต์, ช่างเชื่อมโลหะแผ่น, ช่างไฟฟ้า, และช่างวิทยุ นักเรียนทั้ง 5 แผนกช่างต้องเรียนความรู้พื้นฐาน เรียนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ มีนักเรียนภาคปกติและภาคสมทบ (ภาคบ่าย) จำนวน 10 ห้องเรียน ต่อสัปดาห์ ผมเป็นครูแผนกช่างกลโรงงาน ได้รับมอบหมายให้สอนความรู้พื้นฐานทางช่าง ชื่อวิชางานฝึกฝีมือใช้โรงฝึกงานแผนกช่างกลเดิม เป็นโรงงานฝึกฝีมือ ผมสอนอยู่วิชาเดียวตั้งแต่ปี 2508 ถึงปี 2538 เกษียณอายุราชการ

ปี 2509 กรมอาชีวศึกษาได้ทำการยุบโรงเรียนการช่างสตรีตากให้โอนมารวมกันอยู่กับโรงเรียนการช่างตาก แล้วเปลี่ยนเป็นแผนกวิชาคหกรรมศาสตร์ เป็นการเตรียมความพร้อมของโรงเรียนการช่างตาก ที่จะได้รับการยกฐานะเป็นวิทยาลัยเทคนิคตาก

ปี พ.ศ. 2510 รัฐบาลได้ดำเนินการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาทุกภูมิภาคของประเทศไทยและกำหนดเอาจังหวัดตากเป็นศูนย์กลางการพัฒนาภาคเหนือกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้อนุมัติให้จัดตั้งวิทยาลัยเทคนิคที่จังหวัดตาก
ท่านอาจารย์วีระพล ส.สุจริตจันทร์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ประสานงานการศึกษาภาคเหนือ ได้พิจารณาโดยรอบครอบแล้วเห็นควรให้ยกฐานะโรงเรียนการช่างตากขึ้นเป็น วิทยาลัยเทคนิคตาก ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2510 

พิธีเปิดแพรคลุมป้าย วิทยาลัยเทคนิคตาก เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2510 โดย ฯพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นประธานทำพิธีเปิด

จากความรู้ ความสามารถ ความซื่อสัตย์สุจริต ความมีมนุษย์สัมพันธ์อันดี ตลอดจนผลการปฏิบัติงานที่ดีเด่น มองการณ์ไกลในการพัฒนาการศึกษา ได้มีการขยายการศึกษาให้มีระดับการศึกษาสูงขึ้น จากระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เปิดการเรียนการสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ในทุกแผนกวิชาของท่านอาจารย์วีระพล  ส.สุจริตจันทร์ ตลอดชีวิตราชการเวลาเกือบ 30 ปี ท่านอาจารย์ได้วางรากฐานการศึกษาที่มั่นคง ของโรงเรียนการช่างตาก เพื่อเดินไปสู่การศึกษาระดับปริญญาจนทุกวันนี้

ท่านอาจารย์วีระพล  ส.สุจริตจันทร์ ท่านเป็นทั้งครูที่สอนผมและเป็นผู้บังคับบัญชาผมเมื่อมารับราชการ ท่านเป็นแบบอย่างที่ผมเคารพเทิดทูลท่านเสมอมา

ท่านอาจารย์ปัญญา ยาวิราช เป็นผู้อำนวยการวิทยาเขตตาก ระหว่างปี 2521 ถึง 2529 เป็นเวลา 8 ปี ท่านเป็นผู้สานต่องานของท่านอาจารย์วีระพล  ส.สุจริตจันทร์ ในทุกๆ ด้าน ทำให้วิทยาเขตเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

ผู้บริหารทั้ง 2 ท่านนี้ ผมได้มีโอกาสทำงานร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับท่านในเบื้องต้นและบั้นปลายชีวิตของท่าน ผมก็มีโอกาสใกล้ชิด และส่งท่านถึงวาระสุดท้าย

ปี พ.ศ. 2518 ได้โอนกิจการวิทยาลัยเทคนิคตากรวมกับวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา เป็นวิทยาเขตตาก

ปี พ.ศ. 2520 ได้โอนกิจการวิทยาลัยเทคนิคตาก รวมกับวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา เป็น วิทยาเขตตาก

ปี พ.ศ. 2531 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดเกล้าพระราชทานชื่อ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ตามหนังสือสำนักราชการเลขาธิการพระบรมมหาราชวังที่ รล. 0003/16942 ลงวันที่ 15 กันยายน 2531 และเปลี่ยนชื่อวิทยาเขตเทคนิคตาก เป็นวิทยาเขตตาก ยังจัดการศึกษาระดับ ปวช., และ ปวส.

ปี พ.ศ. 2534 สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลอนุมัติให้วิทยาเขตตาก เปิดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี ครุศาสตร์อุตสาหกรรม สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ภาคพิเศษ เป็นสาขาวิชาแรก ต่อมาเปลี่ยนเป็นภาคสมทบ

ปี พ.ศ. 2537 เปิดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีครุศาสตร์อุตสาหกรรม สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ภาคสมทบ

ปี พ.ศ. 2538 เปิดการเรียนการสอน สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล ต่อมาได้เปิดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี ภาคปกติและภาคสมทบ คณะบริหารธุรกิจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะคหกรรมศาสตร์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

ปี พ.ศ. 2541 ยกเลิกการเรียนการสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ จึงเหลือการจัดการศึกษาระดับ ปวส. และระดับปริญญาตรี
 







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

Facebook Messenger icon