เผยแพร่เมื่อ : พุธ 25 กันยายน 2567 โดย รัตนาภรณ์ สารภี จำนวนผู้เข้าชม 3,050 คน
เมื่อวันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2567 ศูนย์เรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีเซรามิก สถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (ดอยสะเก็ด) นำโดย ว่าที่ร้อยตรีเกรียงไกร ศรีประเสริฐ หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาตร์การนำไปใช้ประโยชน์ และบุคลากรในสังกัด ให้การต้อนรับคณะนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ ในโอกาสเข้าศึกษาดูงานด้านกระบวนการผลิตวัสดุวิศวกรรมประเภทเซรามิก
คณะผู้เข้าศึกษาดูงานประกอบด้วยนักศึกษาชั้นปีที่ 2 จำนวน 26 คน จากหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ และสาขาวิศวกรรมและนวัตกรรมการผลิตอาหาร ภายใต้การนำของ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้และประสบการณ์ตรงในรายวิชาหลักการวัสดุวิศวกรรม โดยมีอาจารย์
ศุภกาล ตุ้ยเต็มวงศ์ เป็นผู้ควบคุมดูแลนักศึกษาตลอดการศึกษาดูงาน
ในการนี้ ทีมวิทยากรผู้เชี่ยวชาญของศูนย์ฯ นำโดย นายสิงหล วิชายะ และนายเอกพงศ์ ดวงมาลา นักวิชาการช่างศิลป์ ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้และสาธิตกระบวนการผลิตเซรามิกอย่างละเอียด ครอบคลุมประเด็นสำคัญ อาทิ ความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างและคุณสมบัติของวัสดุ แผนภาพสมดุลเฟส และการทดสอบสมบัติเชิงกลของวัสดุ
การดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีเซรามิกมีความสอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs มุ่งเน้นการส่งเสริมการศึกษาที่มีคุณภาพ (เป้าหมายที่ 4) ผ่านการให้บริการวิชาการและถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีเซรามิกแก่นักศึกษาและผู้สนใจทั่วไป นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน (เป้าหมายที่ 9) โดยส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเซรามิก ตลอดจนสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (เป้าหมายที่ 17) ผ่านการบูรณาการความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม และชุมชน
ศูนย์เรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีเซรามิกยังทำหน้าที่เป็นต้นแบบในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้แบบบูรณาการ ที่เน้นการปฏิบัติจริง (Hands-on) ควบคู่ไปกับการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพและการสร้างรายได้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สอดคล้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาในการเป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านวิชาชีพและเทคโนโลยี มุ่งผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติที่มีคุณภาพ สร้างสรรค์นวัตกรรม และพัฒนาเทคโนโลยีสู่ชุมชนและสังคม
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้จึงไม่เพียงแต่เป็นการเสริมสร้างความรู้และประสบการณ์ให้แก่นักศึกษาเท่านั้น แต่ยังเป็นการตอกย้ำถึงบทบาทสำคัญของศูนย์เรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีเซรามิกในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านการศึกษาและนวัตกรรม อันจะนำไปสู่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
ข้อมูล/ภาพ หนึ่งฤทัย แสงใส และอาจารย์ศุภกาล ตุ้ยเต็มวงศ์
เรียบเรียง รัตนาภรณ์ สารภี
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา