เผยแพร่เมื่อ : อังคาร 27 สิงหาคม 2567 โดย สิริญญา ณ นคร จำนวนผู้เข้าชม 249 คน
มทร.ล้านนา จัดประชุมร่วมกับ กสศ. และอุตสาหกรรมจังหวัด ผลักดันต้นแบบสถานศึกษานวัตกรรม
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (มทร.ล้านนา) ได้เข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายในโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพอุตสาหกรรมชั้นสูง โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนให้มีคุณภาพสูง ส่งเสริมโอกาสการมีงานทำให้กับผู้สำเร็จการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมตามวัตถุประสงค์ของ กสศ.
เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2567 มทร.ล้านนา ได้จัดการประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลการดำเนินงานและการพัฒนาศักยภาพของสถานศึกษานวัตกรรมตามโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพอุตสาหกรรมชั้นสูง ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 ณ ห้องประชุมกาสะลอง อาคารอำนวยการ มทร.ล้านนา โดยมี รศ.ดร.อุเทน คำน่าน รักษาการอธิการบดี เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารได้แก่ ผศ.ดร.ทนงศักดิ์ ยาทะเล ผู้อำนวยการสำนักบริหาร มทร.ล้านนา ตาก, ผศ.ดร.ชไมพร รัตนเจริญชัย ผู้ช่วยอธิการบดี มทร.ล้านนา เชียงราย ผศ.สุรศักดิ์ อยู่สวัสดิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ ผศ.ดร.ฐิติพร พันธุ์ท่าช้าง ผู้ประสานงานโครงการทุนนวัตกรรมฯ
ในการประชุมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่เข้าร่วมการประชุม ได้แก่:
สาระสำคัญของการประชุม ประกอบด้วยการพัฒนากำลังคนที่ได้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและตลาดแรงงานทั้งในท้องถิ่นและภูมิภาค เพื่อส่งเสริมโอกาสการมีงานทำของนักศึกษา นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนานักศึกษาในด้าน Soft Skills ให้ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เช่น การพัฒนาความร่วมมือกับสถาบันอาชีวศึกษานานกิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ด้านยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อพัฒนาบุคลากร นักศึกษา และหลักสูตรให้ทันสมัยตามเทคโนโลยีจากประเทศผู้ผลิต
สุดท้ายนี้ การพัฒนาสถานศึกษานวัตกรรมต้นแบบได้มีการพิจารณาต้นแบบการเรียนการสอนร่วมกับสถานประกอบการ ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนต้นแบบสำหรับวิทยาลัยอื่น ๆ ได้ต่อไป
ในช่วงท้ายของการประชุม มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานของโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพจากตัวแทนในพื้นที่ต่าง ๆ ได้แก่ ตาก เชียงราย เชียงใหม่ และน่าน พร้อมกับการเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดี การเรียนรู้ และโอกาสการมีงานทำของนักศึกษาที่ได้รับทุน และมีการแนะนำการใช้แอปพลิเคชันเพื่อการพัฒนาตนเอง ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาสามารถสำเร็จการศึกษาได้ตามระยะเวลาที่กำหนด และสอดคล้องกับเป้าหมายของโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพอย่างยิ่ง
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา